สัญญาณที่อาจบอกว่าเรามีอัตตาสูงเกินควรและแนวทางจัดการ

ระดับอัตตาสูงเกินไป อาจปิดกั้นเราจากความสำเร็จ
Knowledge Workers ส่วนใหญ่ต้องประสานงานกับคน
ดังนั้นความสำเร็จของเขาขึ้นอยู่กับความร่วมมือที่ได้รับจากคนอื่น ๆ

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราไม่ได้รับความร่วมมือที่ดีคือ “อัตตา” ของเรา

อัตตา ในที่นี้คือ การแสดงท่าทีมั่นใจจนเกินควร

หมายถึงเกินความคาดหวังของคนรอบตัวในบริบทของสังคมที่เราทำงานด้วย

ข่าวร้ายก็คือ…
คนส่วนใหญ่มักไม่บอกเราว่า “เราเป็นคนอัตตาสูงเกินควร”

แล้วเราจะทราบได้อย่างไร
เราใช้วิธีประเมินจากพฤติกรรมของคนรอบ ๆ ตัวเรา
โดยอ่านจาก สัญญาณ ต่าง ๆ เหล่านี้

  1. มีคนเข้าใจผิดบ่อย ๆ ในเจตนาที่ดีของเรา
  2. มากกว่า 1 คนบอกเราว่า “มั่นใจในตนเอง”
  3. เรามักจะอดทนฟังคนอื่นไม่ค่อยได้นาน
  4. สีหน้าท่าทางของคนที่คุยด้วยมีท่าทีอึดอัด
  5. เมื่อเรารู้สึกว่าคนส่วนใหญ่ไม่มั่นใจในตนเอง
  6. เดินไปที่กลุ่มคนที่กำลังคุยเล่นกันแล้ววงแตก
  7. ลองสังเกตคำพูดที่อาจบอกเป็นนัยว่าเราอัตตาสูง

ลองดูตัวอย่างแต่ละข้อกันดูครับ

  1. มีคนเข้าใจผิดบ่อย ๆ ในเจตนาที่ดีของเรา เช่น เรา Comment งานตรง ๆ เพราะคิดว่าเขาน่าจะรู้สึกดีที่เราตรงไปตรงมา แต่คนมักคิดว่าเราไม่ให้เกียรติ ดังนั้น เราอาจจะต้องปรับโทนหรือวิธีพูดเราให้เข้าบริบทสังคม
  2. มากกว่า 1 คนบอกเราว่า “มั่นใจในตนเอง” บางคนใช้วิธีพูดในเชิงชม “คุณดูมั่นใจในตัวเองดีนะ เวลานำเสนอ” เราจึงคิดไปว่าเขาชม แต่หากเราไปถามคนอื่นที่อยู่ในเหตุการณ์เขาอาจจะบอกเราได้ว่า “เขากำลังด่าเราแบบสุภาพต่างหาก” หากพบคำพูดแบบนี้บ่อย ๆ เราอาจจะต้องพิจารณาตัวเอง แล้วปรับท่าทีลงบ้าง
  3. เรามักจะอดทนฟังคนอื่นไม่ค่อยได้นาน อาการจะออกด้วยการตัดบทของเราเอง สังเกตตัวเองว่าพูดคำนี้บ่อยขนาดไหน “รู้แล้ว รู้แล้ว…” หากมีเยอะ คนอาจจะคิดว่าเราอัตตาสูงน้ำเต็มแก้ว เพราะคนที่เขารู้แล้วส่วนใหญ่เขาก็ไม่จำเป็นต้องพูดออกมาเช่นนี้
  4. สีหน้าท่าทางของคนที่คุยด้วยมีท่าทีอึดอัด หากเราลองอัด Video การนำเสนอของเรา แล้วลองสังเกตสีหน้าท่าทางคนฟังบ่อย ๆ หากพบว่ามีหลายคนมีท่าทีกระอีกกระอ่วนบ่อย เราอาจจะต้องปรับวิธีสื่อสารเรา
  5. เมื่อเรารู้สึกว่าคนส่วนใหญ่ไม่มั่นใจในตนเอง คนที่อัตตาสูง มักจะมองว่าคนอื่น”ไม่มั่นใจในตนเอง” หากเรามีคำพูดนี้ในหัวบ่อย ๆ เราอาจจะไม่เข้าใจบริบทหรือสังคมที่เราอยู่ด้วย
  6. เดินไปที่กลุ่มคนที่กำลังคุยเล่นกันแล้ววงแตก หากเกิดบ่อย ๆ โดยไม่มีเหตุผล คนเขาคงไม่อยากให้เราร่วมวงสนทนาด้วยเพราะเราอาจจะอัตตาสูงเกินไป
  7. ลองสังเกตคำพูดที่อาจบอกเป็นนัยว่าเราอัตตาสูง
    เป็นไปได้ว่า “เขาอาจกำลังบอกเป็นนัย ๆ ว่าอะไร”
    ตัวอย่างเช่น…
    “คุณมีความมั่นใจในตัวเองดีนะ” เขาอาจกำลังบอกว่า “คุณมันดื้อ ไม่ฟังคนอื่นเลย”
    “คุณมีจุดยืนที่ชัดเจนนะ” เขาอาจกำลังบอกว่า “คุณไม่ยืดหยุ่นเลย เอาแต่ได้”
    “ดูคุณมุ่งมั่นมากนะ” เขาอาจกำลังบอกว่า “คุณไม่คำนึงถึงความรู้สึกคนอื่นเลย”
    “คุณมุ่งที่งานมากเลยนะ” เขาอาจกำลังบอกว่า “คุณลองคำนึงถึงคนดูบ้างซิ”

หากคิดว่า เรามีความมั่นใจสูงเกินควร แนวทางแก้ไขคือ

  1. ถามกัลยาณมิตรว่าใครมั่นใจอย่างเหมาะสม
  2. สังเกตวิธีคิดและพฤติกรรมของคนผู้นั้น
  3. ลองนำมาปรับใช้ดูเท่าที่จะทำได้
  4. สอบถาม Feedback จากคนรอบตัวเรา
  5. ปรึกษา Mentor หรือ Coach