ประสบการณ์ที่ทำให้ Upskill / Reskill แบบก้าวกระโดด

ในขณะที่คนทำงานหลายคน พยายามพัฒนาตัวเองด้วยการขวนขวายไป Upskill หรือ Reskill ในทักษะต่าง ๆ 

โดยส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่ อ่านหนังสือ อบรม Webinar เรียนรู้ Online Learning ฯลฯ

หลายคนอาจจะทุ่มเทเวลาอย่างมากมาย แต่กลับไม่เห็นพัฒนาการเท่าที่ควร

เป็นเพราะอะไร

ส่วนหนึ่งเพราะอาจจะไม่ตระหนักรู้ว่า การยกระดับทักษะของเรานั้นมี Framework 70 20 10 อยู่ 

มันคืออะไร

Framework 70:20:10 

เป็นโมเดลการเรียนรู้และพัฒนาที่แบ่งสัดส่วนการเรียนรู้ออกเป็น 3 ส่วนหลัก ดังนี้:

70% – การเรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานจริง

ส่วนนี้เน้นการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติงานจริง ทดลองทำ และเรียนรู้จากประสบการณ์โดยตรงได้แก่:

– การทำงานประจำวัน 

– การรับมอบหมายงานใหม่ ๆ ที่ท้าทาย

– การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในงาน

– การเรียนรู้จากความผิดพลาดและข้อเสนอแนะ

20% – การเรียนรู้จากผู้อื่นและการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม 

ส่วนนี้เน้นการเรียนรู้ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น:

– การสอนงานและการเป็นพี่เลี้ยง (Coaching & Mentoring)

– การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับเพื่อนร่วมงาน

– การสังเกตและเรียนรู้จากตัวอย่างที่ดีและไม่ดี

– การได้รับข้อเสนอแนะจากหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงาน

10% – การเรียนรู้แบบเป็นทางการ

ส่วนนี้เป็นการเรียนรู้ผ่านหลักสูตรอบรมและการศึกษาที่เป็นทางการ เช่น:

– การเข้าร่วมหลักสูตรฝึกอบรม สัมมนา และเวิร์คช็อป

– การศึกษาด้วยตนเองผ่านหนังสือ บทความ และสื่อการเรียนรู้ต่างๆ

– การเรียนรู้ผ่านระบบ e-learning 

โมเดลนี้เน้นว่าการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดเกิดจากประสบการณ์การทำงานจริง (70%) รองลงมาคือการเรียนรู้จากผู้อื่น (20%) และการเรียนรู้แบบเป็นทางการมีสัดส่วนน้อยที่สุด (10%)

Framework นี้ช่วยให้องค์กรสามารถออกแบบโปรแกรมการพัฒนาบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ โดยเน้นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์และการมีปฏิสัมพันธ์ ควบคู่ไปกับการฝึกอบรมที่เป็นทางการ

Framework 70:20:10 ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 โดยนักวิจัยด้านภาวะผู้นำ 3 ท่าน คือ Morgan McCall, Michael M. Lombardo  และ Robert A. Eichinger

ทั้งสามท่านทำงานให้กับ Center for Creative Leadership ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่ไม่แสวงหาผลกำไรในเมือง Greensboro รัฐ North Carolina สหรัฐอเมริกา

พวกเขาได้ทำการวิจัยโดยสำรวจผู้บริหารจำนวน 191 คน เพื่อศึกษาว่าผู้บริหารเหล่านี้เรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างไร ผลการวิจัยพบว่าการเรียนรู้ของผู้บริหารมาจาก 3 แหล่งหลักในสัดส่วน 70:20:10

แม้ว่าตัวเลขที่แน่นอนอาจมีการโต้แย้งกันบ้าง แต่แนวคิดหลักของโมเดลนี้ก็ยังคงได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเน้นย้ำความสำคัญของการเรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานจริงและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ควบคู่ไปกับการฝึกอบรมที่เป็นทางการ

จากประสบการณ์การโค้ชผู้บริหารที่เก่ง ๆ หลายคนของผม ผมประมาณว่า… 

– ส่วนใหญ่พัฒนาตนเองผ่านประสบการณ์ 60-70% 

– จาการมีคนสอน 10% 

– และจากการเข้าอบรมต่าง ๆ 20%

ถ้าประสบการณ์สำคัญ

แล้วประสบการณ์อะไรที่ทำให้เราเรียนรู้และพัฒนามาก ๆ แบบก้าวกระโดด

จากบทความเรื่อง “Eighty-eight Assignments for Development in Place” เขียนโดยสามท่านที่พัฒนา Framework 70 20 10 นี้ แนะนำ 88 งานที่ทำให้พัฒนาได้มาก

ผมยกมา 12 งานที่พัฒนาทักษะต่าง ๆ ได้มาก ๆ คือ

1. ต้องจัดการกับวิกฤติทางธุรกิจ

2. นำโครงการที่ “แทบจะเป็นไปไม่ได้” (คนก่อนพยายามแล้วแต่ไม่เกิด)

3. ออกนอกบริษัทเพื่อแก้ปัญหา เช่นบริหารจัดการลูกค้าที่มีปัญหาให้สำเร็จและพึงพอใจ

4. ริเริ่มโครงการใหม่ขนาดเล็ก เช่น จัดจ้างพนักงานธุรการ Pool ตั้งแต่เริ่มกระบวนการจนได้คนมาทำงานได้

5. เป็นหัวหน้าคณะทำงานสำหรับงานเฉพาะกิจที่เป็นปัญหาทางธุรกิจ

6. เป็นผู้จัดการโครงการเฉพาะกิจเร่งด่วนที่มีแต่คนขาดประสบการณ์

7. เป็นผู้จัดการโครงการเฉพาะกิจเร่งด่วนที่มีแต่คนไม่เก่ง

8. เป็นผู้จัดการโครงการเฉพาะกิจเร่งด่วนที่มีแต่คนเก่งที่เชี่ยวชาญในสิ่งนั้น  แต่เรารู้น้อยมาก

9. เป็นผู้จัดการโครงการเฉพาะกิจเร่งด่วนในทีมงานที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมานาน

10. เป็นผู้จัดการโครงการเฉพาะกิจเร่งด่วนที่ต้องขยายการดำเนินการอย่างรวดเร็ว

11. จัดการเกี่ยวกับโครงการตัดค่าใช้จ่าย

12. อยู่ในคณะทำงานที่มีปัญหาในเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วนทางธุรกิจ

ดังนั้น ครั้งต่อไป หากได้รับมอบหมายงานยาก ๆ งานหิน ๆ 

ขอให้เข้าใจว่า เรากำลังก้าวเข้าสู่การ Reskill/Upskill แบบก้าวกระโดด

แล้วเราจะสนุกไปกับความท้าทายจากประสบการณ์นั้น ๆ ครับ