บทความโดย: โค้ชเกรียงศักดิ์ นิรัติพัฒนะศัย
ภาพ: Pavel Danilyuk
แผนงานส่วนใหญ่มักไม่เป็นไปตามแผน
เพราะว่าเวลาเราวางแผนงาน เราวางบนกระดาษ (หรือ Devices อื่น ๆ) โดยคิดว่า งานทุกอย่างมัน “คงที่” (Static)
แต่ในความเป็นจริง ไม่มีอะไร “คงที่”
โดยเฉพาะ “เมื่อมีคน” เข้ามาเกี่ยวข้อง
เพราะคนแต่ละคน มีความหลากหลายใน วิธีคิด/สไตล์/แรงจูงใจ อีกทั้ง แต่ละคน “ลงแรง” และ “ลงใจ” ในงานแต่ละงานไม่เท่ากัน
หนักไปกว่านั้น ในแผนงานมักจะมี “จุดวิกฤติ” ที่คนไม่ได้นึกถึงไว้ก่อนในตอนวางแผน โดยเฉพาะ หากแผนเขียนโดยคนขาดประสบการณ์ในงานนั้น หรือขาดประสบการณ์ในการวางแผนงานนั้น
เราจะระบุจุดวิกฤติในแผนงานได้อย่างไร
หลายปีก่อน ผมเคยทำงานบริษัท Kepner-Tregoe ซึ่งเขาสอนวิชา Problem Solving & Decision Making
โดยมีหัวข้อหนึ่งเรื่อง “การวิเคราะห์ปัญหาที่อาจเกิด”
หัวข้อนี้ เขาพูดถึงขั้นตอนของการวางแผนโครงการ โดยแนะนำว่าในการวางแผนให้เราระบุ “จุดวิกฤติ” ให้ดี แล้วลงมือวางแผนป้องกันความเสี่ยงในแต่ละจุดวิกฤตินั้น ๆ
โดยลักษณะของจุดวิกฤติ คืองานที่…
1. มีคนจากหลายหน่วยงาน มาทำงานร่วมกัน 2. มีคนใหม่หลายคน มาทำงานร่วมกัน
3. เป็นงานใหม่ ที่ยังไม่เคยทำมาก่อน
4. หากงานไม่เสร็จ งานอื่นที่คอยอยู่เริ่มไม่ได้ 5. มักเคยเกิดปัญหาบ่อย ๆ ในอดีต
6. ต้องเร่งให้เสร็จ ด้วยเวลาที่เฉียดฉิว
7. มีการเปลี่ยนแปลง หลายเรื่องพร้อมกัน
เมื่อระบุจุดวิกฤติได้แล้ว
ให้วางแผนป้องกันให้ดี และอย่าลืมวางแผนสำรองหากป้องกันแล้วพลาด
ลองนำไปประยุกต์ใช้ดูครับ