ไม่ด่วนสรุปว่า เราแต่ละคนเข้าใจกันดีพอแล้ว

บทความโดย: โค้ชเกรียงศักดิ์ นิรัติพัฒนะศัย
ภาพ: Tima Miroshnichenko


ในภาวะปกติก่อนวิกฤติโควิด-19 คนทำงานส่วนใหญ่ มักคิดว่า

ก. เขาเข้าใจ หัวหน้า/เพื่อนร่วมงาน/ลูกทีม ของเขา ดีพอสมควร
ข. หัวหน้า/เพื่อนร่วมงาน/ลูกทีม ของเขา เข้าใจเขา ดีพอสมควร

แต่ว่า ที่จริงแล้วทุกฝ่ายอาจจะเข้าใจกันเพียงผิวเผิน หรือเข้าใจกันน้อยกว่าที่คิดกันเอง เพียงแต่ว่าการทำงานในภาวะปกติก่อนวิกฤตินั้นอาจจะไม่กดดันมากพอ ทำให้เราอลุ่มอล่วยกันไปบ้าง แม้ว่าได้เข้าใจคลาดเคลื่อนกันไปบ้างก็ตาม

แต่ว่าเมื่อเรามาถึง ณ. จุดนี้

จุดที่การทำงานยากขึ้น ความไม่ชัดเจนมีมากขึ้น อุปสรรคมีมากมาย ทำให้วิธีการทำงาน และวิถีชีวิตของคนทำงานส่วนใหญ่เปลี่ยนแปลงไป ที่สำคัญแรงกดดันรอบด้านที่ทุกคนได้รับมีมากมาย

แต่เราอาจจะยังยึดติดกับกรอบความคิดเดิมดังที่กล่าวมา แล้วสิ่งที่เราควรทำคืออะไร
ผมเสนอว่าลองนำคำพูดของ จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ ที่ว่า

“คนที่เข้าใจโลกจริง คือช่างตัดเสื้อประจำตัวผม ทุกครั้งก่อนตัด เขาจะวัดตัวใหม่เสมอ คนส่วนใหญ่ใช้สัดส่วนเดิมตัด คิดว่าผมเป็นแบบเดิม จากความทรงจำในอดีต”

คือการไม่ด่วนสรุปว่าเราแต่ละคนเข้าใจกันดีพอแล้ว ให้คิดว่า “เราแต่ละคนอาจเข้าใจกันคลาดเคลื่อนได้”

ดังนั้น สิ่งที่จะต้องทำคือ “วัดตัว” ทุกครั้ง ด้วยการ…

a. เรียนรู้เกี่ยวกับข้อมูลของคนที่เราจะปฎิสัมพันธ์ด้วย ก่อนสื่อสารกันเท่าที่จะเป็นไปได้
b. สังเกตบริบทรอบ ๆ ตัวเขา
c. บางทีการถามตรง ๆ เช่น “ขณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง” หรือ “หลังจากที่เราเคยคุยกันครั้งก่อน ตอนนี้มีอะไร เปลี่ยนแปลงไปบ้าง” ก็ทำให้เราเข้าใจเขามากขึ้น

เมื่อเราได้ข้อมูลมามากเพียงพอ เราจึงจะสามารถปฎิสัมพันธ์และสื่อสารได้อย่างสัมฤทธิ์ผลครับ