เปลี่ยนจากบริหารเจ้านายไปเป็นโน้มน้าวใจ

“คุณเกรียงศักดิ์ ดิฉันจะบริหารเจ้านายอย่างไรดี ดิฉันทำงานร่วมกับเขาค่อนข้างลำบาก” คุณสุรีถาม

“คุณสุรีแทนที่จะบริหารนาย ผมแนะนำให้โน้มน้าวใจเขาแทน การโน้มน้าวใจผู้อื่นเป็นทักษะที่จำเป็นในโลกธุรกิจทุกวันนี้ โดยเฉพาะกับเจ้านาย

หนังสือ Influence without authority โดย Allan R. Cohen และ David L Bradford สอนวิธีการกระตุ้นผู้อื่นเพื่อให้ประสบผลตามเป้าที่ตั้งใว้ ในแบบที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเขา ตัวคุณและองค์กร

พื้นฐานของหนังสือเล่มนี้คือ

  • การโน้มน้าวใจคือการแลกเปลี่ยนระหว่างสิ่งที่ผู้อื่นเห็นค่าเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่คุณต้องการ
  • ความสัมพันธ์มีความสำคัญ ยิ่งคุณมีความสัมพันธ์ที่ดีปริมาณมากโอกาสแลกเปลี่ยนก็มากตามตัว
  • สำหรับการโน้มน้าวใจในที่ทำงานคุณต้องรู้ว่าตนกำลังทำอะไรอยู่ มีแผนงานที่สมเหตุสมผล มีศักยภาพในการทำงานที่ได้รับมอบหมายแต่ยังไม่ดีพอ สิ่งสำคัญคือต้องยอมรับความจริง
  • คุณทำการโน้มน้าวใจเพื่อผลดีขององค์กร
  • ความลำบากในการโน้มน้าวใจมักเกิดจากตนเอง อาจเนื่องมาจากไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่แก้ง่าย แต่ในบางกรณี เราทำในสิ่งที่ขวางประสิทธิภาพการทำงานของตนเอง หรือบางกรณือีกฝ่ายนั้นไม่สามารถโน้มน้าวได้ แต่โดยมากแล้วเกิดจากสิ่งที่ตัวคุณเองทำหรือไม่ได้ทำ
  • เกือบทุกคนมีศักยภาพในการโน้มน้าวใจมากว่าที่ตัวเองคิด

โมเดลการโน้มน้าวใจผู้อื่นที่พัฒนาโดยผู้เขียน

  1. ทุกคนมีโอกาสเป็นมิตรกับเรา
  2. แจงเป้าหมายและลำดับความสำคัญของคุณ
  3. พิจราณาสภาพแวดล้อมของอีกฝ่าย
  4. ระบุสิ่งที่มีคุณค่า ความหมายสำหรับคุณและเขา
  5. โน้มน้าวใจโดยการเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ”

“น่าสนใจค่ะ ช่วยบอกวิธีการโน้มน้าวใจเจ้านายอย่างเจาะจงหน่อยค่ะ”

“มีหลายบทพูดถึงวิธีใช้ครับ

ผู้เขียนเล่าว่ามีผู้จัดการสองท่าน ท่านหนึ่งเป็นเจ้านายที่ไม่ค่อยดีนัก ส่วนอีกท่านดีแล้วแต่สามารถดีได้อีก
ผู้เขียนเชื่อว่าความมีประสิทธิภาพของเจ้านายเป็นส่วนหนึ่งของงานคุณ คุณมีหน้าที่ช่วยให้เจ้านายเป็นผู้จัดการที่มีประสิทธิภาพและเป็นเจ้านายที่ดีขึ้นสำหรับตัวคุณเอง คุณและเจ้านายเป็นหุ้นส่วนที่จะทำให้แผนกหรือทีมทำงานได้ดีขึ้น

  • เจ้านายอ่านใจผู้อื่นไม่ได้ คุณรู้ดีที่สุดว่าเขาควรบริหารคุณอย่างไรเพื่อให้คุณมีศักยภาพสูงสุด
  • โลกเราซับซ้อน เจ้านายไม่สามารถรับมือทุกสิ่งได้แม้เขาต้องการ เพราะมีงานมากเกินไป และสไตล์การทำงานของลูกน้องก็หลากหลาย ซึ่งมีความรู้หรือทักษะพิเศษที่ต้องนำมาใช้ถ้าต้องการความเป็นเลิศ
  • คุณทราบดีว่าความตั้งใจของเจ้านายในการบริหารคุณนั้นได้ผลลัพธ์อย่างไร เขาอาจต้องการให้แนวทางการทำงานที่ชัดเจนแต่คุณเท่านั้นที่รู้ว่ารูปแบบใดที่จะชัดเจน พูดง่ายๆก็คือ เจ้านายต้องการคุณ

ผู้เขียนแนะนำว่าการเปลี่ยนธรรมชาติความสัมพันธ์ของ เจ้านาย-ลูกน้อง จาก ผู้บังคับบัญชา-ผู้ใต้บังคับบัญชา ให้เป็นความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วน โดยยังมีลำดับชั้นในแบบของ “หุ้นส่วนรุ่นน้องและหุ้นส่วนรุ่นพี่” อยู่
หุ้นส่วนรุ่นน้องควรทำตัวอย่างไร หุ้นส่วนจะไม่ปล่อยให้หุ้นส่วนของตน…

  • ทำความผิดพลาดที่ใหญ่หลวง
  • ดูไม่ดีโดยไม่เจตนา
  • ทำอะไรโดยไม่มีข้อมูลทั้งๆที่คุณรู้

สิ่งที่หุ้นส่วนทำก็คือ:

  • ยึดมั่นกับเป้าหมายของหุ้นส่วน
  • ให้ความสำคัญขององค์กรก่อนตนเอง
  • เห็นคุณค่าและใช้ประโยชน์ของทักษะและมุมมองที่แตกต่าง
  • ยอมรับข้อบกพร่องของกันและกัน
  • ไม่เหมารวมว่าพฤติกรรมที่ไม่ดีมาจากความตั้งใจที่ไม่ดี แต่เกิดจากการได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง (พวกเขาเหมารวมว่าหุ้นส่วนรุ่นพี่พยายามที่จะทำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับองค์กรและพวกเขาฉลาดและมีศักยภาพ ไม่เช่นนั้นพวกเขาคงไม่ต้องการเป็นหุ้นส่วนด้วยตั้งแต่แรก)

วิธีที่ผู้เขียนเสนอในการโน้มน้าวใจเจ้านาย:

  1. เจ้านายมีศักยภาพในการเป็นหุ้นส่วน
  2. ทำให้มั่นใจว่าคุณเข้าใจสภาพแวดล้อมของเขา
  3. ตระหนักถึงทรัพยากรที่คุณมีอยู่แล้วหรือสามารถหาได้
  4. สังเกตว่าอีกฝ่ายต้องการให้ความสัมพันธ์มีลักษณะอย่างไร”

“การทำแบบนี้ต้องใช้ความพยายามอย่างมากเลยนะคะ”

“ใช่ครับ แต่สิ่งที่คุณเผชิญต้องการความพยายามมากกว่าแล้วยังทำให้คุณท้อแท้ถ้าคุณไม่อยู่ในกรอบเดียวกันกับเจ้านาย”