เตรียมตัวว่าที่ซีอีโอ part 2

“คุณเกรียงศักดิ์ ผมชอบหนังสือ Preparing CEOs for success – I wish I knew โดย Leslie W. Braksick and James S. Hillgren ผมเรียนรู้มากจากเรื่อง CEO’s career experiences” คุณมานพรองซีอีโอของบริษัทแห่งหนึ่งกล่าว

“ผมก็ชอบบทนี้เขาระบุว่า ซีอีโอที่ประสบความสำเร็จมีประสบการณ์คล้ายกันคือ

1. ใช้ชีวิตและทำงานในต่างประเทศ

2. บริหารงบกำไรขาดทุนองค์กรเดี่ยว

3. รู้งานรอบด้านโดยเฉพาะเรื่องยุทธศาสตร์

4. บริหารงานฝ่ายที่มีบทบาทสำคัญ

5. ผ่านงานทุกฝ่ายในองค์กรมาแล้ว

6. ทำงานร่วมกับคนที่มีความแตกต่างหลากหลายได้

7. เคยนั่งในบอร์ดองค์กรอื่น

8. เรียนรู้จากผู้อื่น

9. เรียนรู้จากวิกฤติ”

“ผมอยากหารือกับคุณในเรื่องที่ผมเคยนั่งในบอร์ดองค์กรอื่น  ประโยชน์ก็คือผมมีโอกาสจะเข้าใจว่าการเผชิญหน้าและขับเคลื่อนความสัมพันธ์กับกรรมการบริหารควรจะทำอย่างไร 

นอกจากนี้บริษัทเราวางแผนที่จะให้มีจำนวนกรรมการอิสระมากขึ้น ดังนั้นผมจึงอยากเตรียมความพร้อมของตนเองในการทำงานร่วมกับพวกเขาในอนาคต”

“ตอนนี้คุณก็นั่งในบอร์ดอยู่แล้วนี่”

“ใช่ครับ แต่องค์กรของเราเพิ่งปรับจากธุรกิจครอบครัวเป็นบริษัทมหาชนเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้ประสบการณ์ทำงานกับบอร์ดมืออาชีพของผมมีจำกัด”

“ความกังวลใจในการทำงานร่วมกับกรรมการอิสระของคุณคืออะไร”

“ถ้าผมได้เป็นซีอีโอคนถัดไปและเป็นบอร์ดด้วย สิ่งที่กังวลใจคือ

– ต้องรู้อะไรเกี่ยวกับการเงิน

– ต้องรู้อะไรเกี่ยวกับยุทธศาสตร์

– จะทราบได้อย่างไรว่าจะต้องตอบคำถามประเภทใดบ้างจากกรรมการที่มีอำนาจโน้มน้าวสูง”

“มาดูกันทีละเรื่องครับ เกี่ยวกับการเงิน คิดว่าจะทำอย่างไร”

“อาจต้องเข้าอบรมการเงินสำหรับผู้บริหาร ที่สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) จัด”

“นอกจากอบรมแล้ว มีใครที่อาจจะเป็น Mentor ให้คุณในเรื่องนี้ได้บ้าง”

“ไม่ทราบครับ”

“เคยได้ยิน Six degrees of separation มั๊ยครับ”

“คืออะไรครับ”

“แนวคิดก็คือ มนุษย์ทุกคนเชื่อมโยงถึงกันและกัน หากเราอยากรู้จักใครก็ตามบนโลกนี้ให้ถามหาจากเพื่อนของเราหกช่วงคน เราก็จะเข้าถึงคน ๆ นั้นได้ ทฤษฎีนี้เริ่มต้นมาจาก Frigyes Karinthy แล้วได้รับการนำมาทำเป็นละครเวทีที่โด่งดังโดย John Guare

ดังนั้นถ้าคุณอยากรู้จักผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน คุณควรถามตนเองว่า คน ๆ นั้นคือใคร แล้วถ้าคุณไม่รู้จักใครเลย คุณก็ควรถามตัวเองว่าคนรู้จักของคุณคนไหนที่อาจรู้จักผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินบ้าง”

“ผมสามารถถามเพื่อนที่เป็นรองประธานอาวุโสของธนาคารข้ามชาติให้แนะนำให้ได้ครับ”

“ดีครับ แล้วกรรมการบริหารท่านใดที่มักถามคำถามการเงินยาก ๆ กับซีอีโอของคุณ”

“อ้อ คุณสุทัศน์กรรมการอิสระครับ เขาเป็นผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังที่เกษียณแล้ว”

“คุณก็เรียนรู้จากการไปขอคำชี้แนะจากท่านได้เช่นกัน  

มาดูข้อสองเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ครับ”

“ผมเคยเข้าอบรมและศึกษาด้วยตนเองมากพอควรในเรื่องนี้ ผมคิดว่าผมต้องการเรียนรู้จากประสบการณ์คนอื่นมากกว่า”

“ยุทธศาสตร์เป็นเรื่องของทิศทางและแนวโน้มในอนาคต ใครที่สามารถเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ในอุตสาหกรรมที่คุณทำอยู่ได้บ้าง”

“ผู้ผลิตสินค้า ลูกค้า และพันธมิตรด้านงานเทคนิค ผมพอจะรู้จักใครต่อใครอยู่บ้าง ผมจะลองถามจากคนเหล่านี้ได้เลย”

“มาดูข้อสุดท้าย จะทราบได้อย่างไรว่าจะต้องตอบคำถามประเภทใดบ้างจากกลุ่มกรรมการที่มีอำนาจโน้มน้าวสูง

โดยเฉลี่ยบอร์ดแต่ละแห่งจะมีกรรมการ 10-12 ท่าน ปกติระดับการมีส่วนร่วมมี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีส่วนร่วมสูง กลุ่มปานกลาง และกลุ่มีท่ไม่ค่อยออกความเห็น มีกรรมการสักกี่ท่านในบอร์ดของคุณที่มีส่วนร่วมสูง”

“2 ท่านที่ถามคำถามเชิงรุกจำนวนมากในแง่มุมที่ซีอีโอคาดไม่ถึง ที่บริษัทอื่นโดยปกติแล้วก็ได้ยินว่ามี 2-3 ท่านที่ถามยาก ๆ เช่นกันครับ”

“คุณสามารถเรียนรู้จากกรรมการที่มีส่วนร่วมสูงเหล่านี้ได้ เมื่อใดที่ได้ยินคำถามหิน ๆให้ถามตัวเองว่า ทำไมพวกเขาจึงถามคำถามเหล่านี้

จากหนังสือ How to Become the Most Wanted Employee Around โดย David Freemantle บอกว่าหากเราอยากรู้ว่าผู้อื่นคิดอย่างไร พยายามดูให้ออกว่าใครหรือหนังสือเล่มไหนมีอิทธิพลต่อความคิดของพวกเขา  

หรือคุณอาจถามเขาว่า เขาศึกษาหรือเรียนรู้เรื่องแนวโน้มในอนาคตจากแหล่งข้อมูลใดบ้าง  แลัวจึงตามไปค้นคว้าเพิ่มเติมดูครับ”