“คุณมานี วันนี้ดูเศร้า มีอะไรหรือครับ”
เธอพยักหน้า “ฉันเพิ่งไล่ลูกน้องออกเมื่อสองวันก่อน เธอเป็นเพื่อนที่ดี แต่ปีที่ผ่านมาเธอปรับตัวให้เข้ากับค่านิยมขององค์กรที่เน้นเรื่องการทำงานเป็นทีมไม่ได้ และยังไม่สามารถเข้ากับเพื่อนร่วมงานระดับเดียวกันได้อีก”
“แล้วทำไมคุณจึงเศร้า”
“เพราะฉันมีส่วนในพฤติกรรมที่ไม่ดีเธอ”
“ยังไงครับ”
“ตอนที่ฉันได้รับเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการทั่วไปเมื่อสองปีก่อน ฉันรู้ว่าถ้าเธอไม่เปลี่ยน ก็คงจะไม่สามารถอยู่ในองค์กรต่อไปได้”
“แล้วตอนนั้นคุณทำอะไรไปบ้าง”
“ฉันบอกเธอว่าองค์กรเปลี่ยนซีอีโอแล้ว เขาเน้นเรื่องการทำงานเป็นทีม และการให้ความร่วมมือกัน ฉันแนะนำว่าเธอควรเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่น เท่านั้นเองที่ฉันพูด ฉันควรแนะเธอมากกว่านั้น”
“ทำให้คุณรู้สึกผิดในตอนนี้”
เธอพยักหน้า
“แต่มันผ่านไปแล้ว กลับไปแก้ไขไม่ได้ คุณควรจะปล่อยวางเสีย”
“ตั้งแต่ให้เธอออก ฉันรู้สึกผิดมาตลอด”
“คุณมานี ผมอยากเล่านิทานคำสอนของเซนให้คุณฟัง
มีนักบวชสองท่านเดินท่องไปจนถึงแม่น้ำก็พบกับหญิงสาวที่ต้องการข้ามฝั่งแต่กลัวความเชี่ยวของน้ำ เธอจึงถามนักบวชว่าพวกเขาสามารถให้เธอขี่หลังข้ามไปได้หรือไม่ นักบวชรูปหนึ่งลังเล แต่ก็แบกเธอขึ้นหลังแล้วพาข้ามน้ำไป เมื่อถึงฝั่งเขาวางเธอลง เธอกล่าวขอบคุณ แล้วก็เดินจากไป
นักบวชทั้งสองยังคงเดินต่อไป นักบวชอีกรูปทำหน้าบึ้งและครุ่นคิดกับสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อทนไม่ใหวจึงพูดออกมา
‘นี่ท่าน คำสอนบอกให้เราอยู่ห่างจากอิสตรีแต่ท่านกลับแบกเธอขึ้นหลังข้ามน้ำ’
นักบวชที่ช่วยหญิงสาวจึงตอบว่า ‘เราวางเธอลงตั้งแต่ที่ริมแม่น้ำแล้ว แต่ท่านสิยังแบกเธอเอาใว้อยู่เลย’
คุณคิดว่าเรื่องนี้ต้องการสอนอะไร”
“อดีตผ่านไปแล้ว เปลี่ยนไม่ได้ ฉันควรหยุดความรู้สึกผิดตั้งแต่สองวันก่อน”
“ถูดต้องครับ เราเป็นปุถุชนจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะทำผิดพลาด ตราบใดที่เราเรียนรู้จากมัน
นี่เป็นคำถามที่คุณสามารถนำไปใช้เมื่อเจอวิกฤติ
– เราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากประสบการณ์นี้
– จะทำอย่างไรเพื่อเลี่ยงไม่ให้เกิดอีก
– จะสอนผู้อื่นอย่างไรไม่ให้พวกเขาทำเรื่องผิดๆแบบเดียวกันนี้
– เราได้รับอะไรจากประสบการณ์นี้บ้าง
เราลองตอบคำถามกันสักสองสามข้อนะครับ”
เธอยิ้มเพื่อตอบตกลง
“คุณเรียนรู้อะไรบ้างจากประสบการณ์นี้”
“ฉันเรียนรู้ว่าการพูดอย่างเปิดเผยอาจทำให้รู้สึกอึดอัดในขณะนั้น แต่เป็นการดีกว่า ในระยะยาว”
“ดีครับ คำตอบของคุณทำให้ผมนึกถึงประเด็นในหนังสือชื่อ Crucial Conversations โดย Kerry Patterson Joseph Grenny, Ron McMillan และ Al Switzler ผู้เขียนนิยามการสนทนาที่สำคัญว่าเป็นการสนทนาระหว่างคนสองคนขึ้นไปโดยที่ (1) มีการเดิมพันสูง (2) มีความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย (3) มีอารมณ์ที่รุนแรง
ผู้เขียนบอกว่าในการสนทนาที่สำคัญนั้น คนทั่วไปมักจะมีจุดประสงค์ซ่อนเร้นมาเกี่ยวข้องเช่น อยากชนะ อยากแก้แค้น หรืออยากปลอดภัย
ความอยากปลอดภัย ทำให้เราอยากรู้สึกปลอดภัยมากกว่าที่จะพูด แทนที่จะให้ความเห็นที่อาจทำให้ผู้อื่นไม่พอใจ เรากลับเงียบเสีย เราอึดอัดถ้าจะมีความขัดแย้งในขณะนั้น ทำให้เรายอมรับผลลัพธ์ที่ไม่ดี ในใจของเรา เราเลือกความสงบมากกว่าความขัดแย้ง”
“แล้วคุณจะทำอย่างไรเพื่อเลี่ยงไม่ให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีก”
“ฉันต้องพูดออกไปตรง ๆ ไม่ทำให้เกิดการเข้าใจผิด แต่มันคงไม่ง่าย”
“ครับ ไม่ง่ายเลย แม้ผมยังจ้าง ดร.เดวิด บินเนี่ยน เป็นโค้ช เราพบกันประจำ เพื่อพัฒนาความสามารถการโค้ชของผม เขาให้การบ้านหลายอย่างเพื่อดันผมออกจากพื้นที่สบาย เมื่อผมโอดครวญ คุณทราบมั๊ยว่าเขาพูดว่าอะไร”
“ไม่ทราบค่ะ”
“เขาบอกว่า การโค้ชเป็นงานที่ยาก เราพยายามทำให้คนที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว ประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นไป ผมจึงไม่ควรหวังที่จะทำอะไรอย่าง สบาย สบาย”
คุณมานียิ้ม เพราะเข้าใจความหมายที่สื่อ
“ในฐานะผู้นำคุณต้องมีการสนทนาที่สำคัญ ๆ อีกมาก คุณจะเตรียมความพร้อมได้อย่างไร”
“อาจใช้เวลาในการโค้ชนี้ฝึกการสนทนาที่สำคัญในรูปแบบต่าง ๆ ค่ะ”