บริหารความคาดหวังหัวหน้าให้ได้ทั้งใจและงาน

บทความโดย: โค้ชเกรียงศักดิ์ นิรัติพัฒนะศัย
ภาพ: Sora Shimazaki


บริหารมักจะมีความคิดว่า “หากอยากให้งานเสร็จให้ใช้คนเก่ง”
ดังนั้น “คนเก่ง” จึงมีผู้บริหารหลายคนมอบหมายงานสำคัญให้โดยไม่ได้รู้ว่าเขากำลัง “งานล้นมือ” เพราะว่า “ต่างคนต่างมอบหมาย” และคิดว่า “คนทำงานมีงานเพียงหน้าตักที่เรามอบหมายให้เท่านั้น”

ในขณะเดียวกัน คนทำงานเก่งหลายคน มักมีความรับผิดชอบสูง แะตีความคำว่า “รับผิดชอบสูง” คือ “ต้องทำงานทุกอย่างที่ได้รับมอบหมาย”

ที่จริงแล้ว “ความรับผิดชอบ” หมายถึง “การรับผิดชอบทำงานตามลำดับความสำคัญ”

หากคุณเป็นคนเก่งที่มีงานเข้ามาจากหลายหัวหน้า เป็นความรับผิดชอบของคุณที่ต้องหารือกับหัวหน้าโดยตรง

วิธีการคือ

1. ขอนัดหัวหน้าเพื่อหารือเรื่อง “การจัดลำดับความสำคัญ”
2. แจ้งให้เขาทราบว่างานในหน้าตักของเรามาจากหลายนาย 3. ทุกคนต้องการด่วนทั้งนั้น แถมบางงานก็ซ้ำ ๆ กันบางส่วน
4. เสนอความเห็นว่า “เรามีแผนลำดับความสำคัญอย่างไร”
5. ขอคำชี้แนะว่า “ดุลพินิจในการจัดลำดับเราเป็นอย่างไร”
6. ขอคำแนะนำ “มีขั้นตอนไหนที่เราน่าจะทำได้สั้นกว่าที่เราคิด”
7. ขอการสนับสนุน “มีงานไหนที่ขอให้เขาไปกรุยทางให้หน่อย”

คนส่วนใหญ่เกรงใจ คิดว่าเป็นการรบกวนนาย หรือกลัวนายว่าเราคิดเองไม่เป็น หรือเกรงว่านายจะคิดว่าเราเกี่ยงงาน
หรือ คิดว่าเราไม่รับผิดชอบ

แต่ว่านายส่วนใหญ่ไว้วางใจเรา และเขาจะดีใจเสียอีกที่เราเข้าไปหารือกับเขา

เพราะว่ามันดีกว่าไม่ได้หารือเนิ่น ๆ แต่กลับปล่อยให้งานทุกงานล่าช้าหรือไม่ทัน

เมื่อเขามาตามงานกับเรา เพราะเราทำไม่ทัน
เราก็อาจโดนตำหนิได้ว่า “ทำไมไม่มาคุยแต่เนิ่น ๆ ละ ปล่อยให้มันยืดเยื้อมาถึงขั้นนี้ได้อย่างไร”

เป็นความรับผิดชอบของเราที่ต้องบริหารความคาดหวังและหารือเรื่องลำดับความสำคัญของแต่ละงานครับ

และบ่อยครั้ง นายเราอาจไปช่วยกรุยทางหลาย ๆ เรื่อง
ซึ่งใช้พลังนายนิดเดียว เมื่อเทียบกับพลังของเรามากมายหากไปเราต้องไปกรุยทางด้วยตัวเองครับ