ถึงเวลาเปลี่ยนแปลงตัวเรา

“ผมโล่งใจที่เห็นบ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ” ธีระพลพูดถึงความไม่สงบทางการเมืองที่เพิ่งผ่านมา

“อย่าประมาท” ผมแนะนำ

“ทำไมหรือ”

“ประเทศเราพึ่งพิงส่งออกและการท่องเที่ยวมาก ส่งออกแย่เพราะเศรษฐกิจโลก ท่องเที่ยวดับเพราะจลาจล มันกระทบไปหมด ธุรกิจส่วนใหญ่คงมีปัญหา การค้าขายคงลดลง แล้วพวกเขาจะทำอย่างไร ก็ลดราคาเพราะคิดว่าจะเพิ่มยอดขาย คู่แข่งก็ลดบ้าง จนเกิดสงครามราคา แล้วไงละ กำไรหดนะซี สุดท้ายก็จะมาลดคนลง”

“แล้วจะทำอย่างไรดีครับ” ธีระพลสงสัย

“ขึ้นอยู่กับว่าคุณอยู่บทบาทไหน ผู้นำ ผู้จัดการ หรือพนักงาน

แต่ผมอยากแนะนำพนักงานในองค์กรทั่วไป ผมคิดว่าต้องเริ่มจากทัศนคติที่ถูกต้องก่อน”

“คืออะไรครับ”

“การเปลี่ยนแปลงที่เราเป็นคนริเริ่มนั้นเราจะพยายามทำให้มันเกิด แต่หากเราถูกบังคับให้เปลี่ยนเรามักต่อต้าน ในเมื่อรู้แน่ ๆ อยู่แล้วว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลง ทำไมเราไม่เริ่มเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงเสียเองเล่าครับ รออะไรอยู่”

“แล้วผมจะรู้ได้อย่างไรว่าต้องเปลี่ยนแปลงตรงไหน”

“เป็นคำถามที่ดีครับ คุณอาจจะต้องนั่งลงทบทวนตัวเองดู ใช้คำถามว่า

นายคุณเคยบอกให้เปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

ในการประเมินผลงานครั้งสุดท้าย คุณได้รับคำแนะนำให้เปลี่ยนแปลงอะไร หากมีนายที่ใจดี เขาไม่อยากทำร้ายความรู้สึกคุณ คุณอาจจะไม่รู้ แต่ก็อาจจะลองดูผลคะแนนในการประเมินว่าข้อไหนที่บอกว่าได้คะแนนปานกลาง หรือหากมีแต่ดีมากกับดีเพราะนายบางคนใจดีเกินไป ก็ให้สังเกตข้อที่ดีนั่นแหละเพราะดีอาจจะเท่ากับพอใช้ได้สำหรับนายบางคน

ลองนึกดูว่าเพื่อนร่วมงานเขาเคยแหย่หรือกระเซ้าเราว่าน่าจะต้องเปลี่ยนแปลงอะไร

ลองทบทวนพวกข้อมูลย้อนกลับแบบแซนด์วิช เพราะว่าบางคนมีความเชื่อว่าหากจะบอกสิ่งที่ควรปรับปรุงควรจะเริ่มด้วยคำชมก่อน เช่น ธีระพลคุณส่งรายงานตรงเวลานะ แต่มีจุดผิดพลาดสองสามแห่ง ก็หมายความว่าเขากำลังบอกว่าเรามีสิ่งที่ควรปรับตรงจุดผิดพลาดของรายงาน

เสร็จแล้วรวบรวมรายการดู แล้วนำรายการนี้ไปคุยกับนาย นายส่วนใหญ่จะรู้สึกดีเพราะการที่พนักงานทำอย่างนั้น แสดงว่าพนักงานมีใจเปิดกว้าง ต้องการค้นหาสิ่งที่ตนเองต้องปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง นายอาจจะเห็นเหมือนหรือต่างกับคุณ แต่ว่าในที่สุดคุณจะรู้แล้วว่าในสายตานายต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง จัดลำดับความสำคัญ แล้วเลือกเรื่องที่มีนัยสำคัญอันดับแรกมาวางแผนกับนายเรื่องวิธีการพัฒนา ถ้าเป็นไปได้ทำทีละเรื่องเพราะการพยายามทำหลายเรื่องมากเกินไปไม่มีโฟกัส ในการวางแผนนั้นคุณอาจจะต้องการการสนับสนุนจากนาย เช่นการอบรมบางอย่าง หรืออาจจะต้องใช้ทรัพยากรอะไรอีกบ้าง”

ธีระพลถามต่อ “เป็นไอเดียทมี่ดีครับ รู้แล้วว่าต้องเปลี่ยนอะไร และเปลี่ยนอย่างไร มีอะไรอีกครับ”

“คุณควรให้ข้อมูลย้อนกลับที่สร้างสรรค์กับเพื่อนร่วมงานคนอื่นด้วย หากนายคุณใจกว้างพอ ควรให้ข้อมูลย้อนกลับให้เขาด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ คุณอาจจะลองดูซิว่า สามารถที่จะเสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงกระบวนการในการทำงานได้อย่างไรบ้าง ลองใช้แนวทางจากคำถามเหล่านี้ดู

ในขั้นตอนของงานแต่ละงาน ทำไมเราต้องทำมัน มีความจำเป็นอย่างไร
หากคำตอบมีเหตุผล ก็ให้ถามต่อไป
จะทำให้มันใช้ค่าใช้จ่ายลดลงได้อย่างไร
จะลดขั้นตอนลงได้อย่างไรบ้าง
จะใช้ทรัพยากรให้น้อยลงได้อย่างไร

นอกจากนี้ สิ่งที่เราทุกคนสามารถทำได้อีกก็คือ การทบทวนเรื่องการใช้เวลาของเรา โดยใช้แนวทางคำถามชุดนี้

เราเป็นคนตรงเวลาหรือไม่
เราจะมาทำงานก่อนเวลาเนิ่น ๆ กว่าเดิมได้อย่างไร
เราใช้เวลาทำในสิ่งที่ควรทำหรือไม่ หรือแค่ทำให้มันดูยุ่งเท่านั้น
เราถามคนที่รับงานจากเราว่าเราทำได้ตรงเวลาที่เขาคาดหวังหรือไม่
เราจะทำให้เร็วขึ้นได้อย่างไร
เราใช้เวลากับเรื่องที่ไม่ควรมากไปหรือไม่ พูดคุย โทรศัพท์ถึงเพื่อน อินเตอร์เน็ท นสพ. ฯลฯ”

“อย่างนี้ก็ไม่สนุกซีครับ”

“อยู่ที่นิยามของคำว่าสนุก หากการส่งมอบงานที่มีคุณค่าโดยใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และใช้จุดแข็งของเรา ผมว่ามันก็สนุกนะครับ”