ตัวอย่างแบบไทย ๆ ของคำว่า Accountability

ผมพบกับชาวต่างชาติชื่อแดน ในงานเปิดตัวหนังสือเชื่อมช่องว่างภาคภาษาอังกฤษ (Bridging the Gap) ที่ร้านเอเชียบุ๊คส์สาขาสยามดิสคอฟเวอรี่เมื่อเดือนที่แล้ว แดนเป็นคนที่ติดตามอ่านคอลัมน์ Bridging the Gap ที่ลงในบางกอกโพสต์ทุกวันจันทร์เป็นประจำ ในงานผมได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเขา

แดนถามผมว่า “คุณแกรียงศักดิ์ผมชอบเรื่องที่คุณเขียนเกี่ยวกับ ความมุ่งมั่นรับผิดชอบหรือที่เรียกว่า Accountability โดยเฉพาะตัวอย่างพนักงานในร้านอาหารแห่งหนึ่งที่ชื่อจาค๊อบที่คุณเขียนลงไปเมื่อหลายเดือนก่อน แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องจริงก็ตาม แต่ว่ามันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศอเมริกา คุณพอจะมีตัวอย่าง Accountability แบบไทยบ้างไหม ผมจะได้ไปเล่าให้เพื่อนพนักงานชาวไทยฟังกัน”

ผมตอบแดนไปว่า “มีครับ ผมมีเรื่องที่ดีมากเรื่องหนึ่งซึ่งคนไทยในสมัยผมคุ้นเคยมาก มันอยู่ในวิชาประวัติศาสตร์ ผมหวังว่าทุกวันนี้ในโรงเรียนเขายังคงสอนกันอยู่ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าพระยาตาก ซึ่งต่อมาได้รับการขนานนามว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในสมัยกรุงธนบุรี เสด็จพระราช สมภพ ณ วันที่ 17 เมษายน พุทธศักราช 2277 ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บรมโกศพระองค์ทรงเป็นสามัญชน กำเนิดในตระกูลแต้ มีพระนามเดิมว่าสิน พระราชบิดาเป็นจีนชื่อไหฮอง เดินทางจากประเทศจีนมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย แล้วได้สมรสกับหญิงไทยชื่อนางนกเอี้ยง มีหลักฐาน บันทึกว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเคยเป็นพ่อค้าเกวียนผู้ทรงปัญญาเฉลียวฉลาด และมีความสามารถด้าน กฎหมายเป็นพิเศษ ได้ช่วยกรมการเมืองชำระถ้อยความของราษฎรทางภาคเหนืออยู่เนือง ๆ เนื่องจากได้ทำความดีมีความชอบต่อแผ่นดิน จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็น เจ้าเมืองตากในเวลาต่อมา

 ในปีพุทธศักราช 2308 – 2309 พระยาตากได้นำไพร่พลลงมาสมทบเพื่อป้องกันกรุงศรีอยุธยาระหว่าง ที่พม่าล้อมกรุงอยู่ ได้ทำการต่อสู้จนเป็นที่เลื่องลือว่า เป็นแม่ทัพที่เข้มแข็งมากที่สุดคนหนึ่ง และได้รับการแต่งตั้ง ให้เป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร ในวันที่ 4 มกราคม พุทธศักราช 2310 (ก่อนที่จะเสียกรุงศรีอยุธยา ให้แก่พม่าประมาณ 3 เดือน) พระยาตากได้รวบรวมกำลังตีฝ่าวงล้อม ของพม่าไปตั้งมั่น เพื่อที่จะกลับ มากู้เอกราชต่อไป 

จากหลักฐานตามพระราชพงศาวดาร พระยาตากได้รวบรวมไพร่พลประมาณ 500 คน มุ่งไปทาง ฝั่งทะเลทางทิศตะวันออก ระหว่างเส้นทางที่ผ่านไปนั้นได้ปะทะกับกองกำลังของพม่าหลายครั้ง แต่ก็สามารถ ตีฝ่าไปได้ทุกครั้ง และสามารถรวบรวมไพร่พลตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ในวันที่ 8 เมษายน พุทธศักราช 2310 พม่ายึดกรุงศรีอยุธยาได้ เจ้าเมืองใหญ่ ๆ พากันตั้งตัวเป็นเจ้าและควบคุมหัวเมืองใกล้เคียง ไว้ในอำนาจ หลังจากพระยาตากยึดเมืองจันทบุรีได้ ก็ได้ประกาศตั้งตัวเป็นอิสระ และจัดตั้งกองทัพขึ้นที่นี่ โดยมีผู้คนสมัครใจเข้ามาร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก

เรื่องราวที่เกี่ยข้องกับ Accountability เกิดขึ้นในวันก่อนที่พระองค์จะบุกตีเมืองจันทบุรี โดยพระองค์ตระหนักว่าชัยภูมิที่เป็นจุดอ่อน และหากการรบพุ่งไม่รีบเผด็จศึกโดยไว โอกาสที่กองทัพของพระองค์จะเพลี่ยงพล้ำมีอยู่สูงมาก ในเย็นวันนั้นพระองค์จึงทรงเรียกเหล่านายทหารมารับสั่งว่า ‘พวกเจ้าจงไปบอกทหารทุกคนว่าหลังจากมื้อค่ำคืนนี้ ขอให้ทุกคนทุบหม้อข้าว จานชาม และอุปกรณ์ในการเตรียมอาหารให้หมด แล้วเราจะไปกินข้าวมื้อเช้าในเมืองจันทบุรี หากการรบในคืนนี้เราไม่สามารถชนะข้าศึกได้ ก็ขอให้เราทุกคนสละชีพร่วมกันในศึกครั้งนี้’

เหล่านายทหารทราบถึงความเด็ดเดี่ยวของพระยาตาก จึงนำข้อความไปแจ้งให้ทหารทุกนายรู้ ด้วยความมุ่งมั่นของพระองค์ดังกล่าว ทำให้การรบในคืนนั้นนำมาซึ่งชัยชนะจากความมุ่งมั่นรับผิดชอบร่วมกันของทุกๆคน”

แดนผงกศรีษะ “อืมย์ นี่เป็นตัวอย่างที่ดีมากของคำว่า Accountability ซึ่งผมคิดว่าสื่อได้ดีสำหรับคนไทย เพราะว่าในที่นี้ Accountability หมายความว่า ทุกคนสามารถจะไว้วางใจซึ่งกันและกัน และทุกคนจะมุ่งมั่นรับผิดชอบให้งานสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายโดยพยายามทุ่มเทสุดความสามารถ

ผมพยักหน้า “คนส่วนใหญ่มักจะทำงานเพียงแค่ ‘ให้พอผ่าน’ พวกเขามักไม่พยายามทุ่มเทสุดความสามารถเพื่อความภาคภูมิใจในผลสำเร็จของงาน ปัญหานี้ไม่ใช่เฉพาะกับคนไทย ที่ไหนในโลกก็คล้าย ๆ กัน คนทำงานจะแบ่งเป็นสามกลุ่มคือ 10-15% ที่ทุ่มเทเพื่อความเป็นเลิศ 70-80% ก็ทำไปประมาณว่าพอใช้ได้ และ 10-15% ก็ทำแบบคุณภาพต่ำ ๆ”

ผมพูดต่อ “แต่อย่าลืมนะแดนว่า Accountability มันเหมือนเหรียญซึ่งมีสองด้าน ถ้าผู้นำไม่สามารถสร้างสร้างความมั่นใจน่าเชื่อถือ ผู้ตามก็คงไม่มุ่งมั่นผูกพันในภาระกิจ พระยาตากท่านเป็นผู้ที่กล้าหาญ และมี Accountability ในฐานะผู้นำเสมอ ทุกครั้งที่ออกรบท่านจะขี่ช้างนำหน้ากองทหารของท่าน ในการศึกคืนนั้นก็เช่นกัน ท่านทรงช้างศึกบุกทลายประตูเมืองจนพังพินาศ แล้วหมู่ทหารหาญของพระองค์ก็เข้าไปเผด็จศึกได้

แดน คุณไม่สามารถคาดหวังให้พนักงานของคุณมี Accountability ที่สูงมากมายหากคุณไม่สามารถแสดงตัวอย่างให้เขาเห็นนะครับ”