คำแนะนำซีอีโอมือใหม่

สาโรจน์เป็นซีอีโอมื่อใหม่  เขาต้องการเตรียมตัวโดยเรียนจากคนเก่ง  วันหนึ่งผมจึงพาเขาไปพบธนาซีอีโอที่ประสบความสำเร็จมาหลายปี  

หลังจากทักทายกันสักครู่สาโรจน์จึงเข้าประเด็นโดยการถามว่า  “คุณธนา  ในฐานะที่คร่ำหวอดมาในตำแหน่งนี้หลายปี  มีคำแนะนำอะไรบ้างครับสำหรับมือใหม่หัดขับอย่างผม”

ธนาจึงแนะนำดังนี้

“1. คุณไม่สามารถทำให้คนทุกคนพอใจได้  ไม่ว่าคุณจะพยายามทำดีเพียงไหน  จะมีคนบ่น  อย่าคิดมาก  เช่นคุณอาจจะมีรางวัลที่น่าสนใจมากเลยมากระตุ้นพนักงาน  หากมีเสียงบ่นซัก 10% ก็อย่ากังวลใจ  ตราบเท่าที่คนส่วนใหญ่รับได้

2. เวลาคุณยังไม่ใหญ่  ผลกระทบจากการคิดและตัดสินใจของคุณยังอยู่ในวงแคบ  เมื่อคุณเติบโตขึ้นในองค์กร  ความท้าทายคือจะสร้างสมดุลย์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เหมาะสมเพียงใด  มีทั้ง  สังคม  ลูกค้า  ผู้ถือหุ้น  และพนักงาน  

3. ลูกน้องคุณไม่ได้ทำตามทุกอย่างที่เขาพูดว่าจะทำ  คนอาจจะรับปากแบบง่าย ๆ เมื่อเจ้านายสั่ง  แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะทำตามทุกอย่าง  คุณต้องติดตามให้แน่ใจว่าเป็นไปตามที่ตกลงและเข้าใจตรงกันจริง ๆ หรือเปล่า

4. ข้อเท็จจริงมักจะมาถึงคุณช้าเสมอ  จากประสบการณ์ของผม  ผมมักจะได้รับข่าวร้ายเป็นคนสุดท้ายบ่อย ๆ  ต้องแน่ใจว่าคนในองค์กรไว้วางใจคุณมากพอที่จะสื่อสารกับคุณอย่างสม่ำเสมอ  โดยเฉพาะข่าวร้าย

5. อย่าคิดว่าคนมีดุลยพินิจที่ดีทุกคน  คุณอาจจะแปลกใจหากพบว่าลูกน้องคนที่มีบทบาทสำคัญของคุณนั้นอาจจะมีดุลยพินิจที่ไม่ดีได้  บางคนเรียนมาสูง  บางคนทำงานมานาน  แต่ว่าดุลยพินิจเขาอาจจะไม่ดีเท่าที่เห็นจากเปลือกนอกก็ได้

6. อย่าคิดว่ากรรมการบริษัททุกคนเก่ง  บางคนอาจจะไม่เฉลียวฉลาดอย่างที่คุณคิดก็ได้  แต่ว่าการที่เขาแต่ละคนได้มาเป็นกรรมการในบริษัทของคุณนั้น  เขาอาจจะมีจุดแข็งอะไรบางอย่าง  ค้นหาให้เจอ  แล้วใช้ประโยชน์จากจุดแข็งนั้น  เขาอาจจะมีดุลยพินิจที่ไม่เก่งมากนักในธุรกิจของคุณ  แต่ว่าเขาอาจจะมีคุณธรรมที่สูงส่งก็เป็นได้  เลือกใช้สิ่งที่เขามี

7. แผนงานไม่ได้เป็นไปตามที่เสนอทุกประการ  โดยทั่วไปแล้วแผนงานในกระดาษกับการลงมือทำมักจะไม่เหมือนกัน แผนมักมีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์  ในขณะเดียวกันคนอาจตีความไม่เหมือนกันในเรื่องเดียวกัน  เราอาจจะมีมุมมองที่มาจากสมมติฐานที่ต่างกันกับคนอื่น  ทำให้การปฏิบัติงานของลูกน้องอาจจะแตกต่างไปจากที่เราคิดก็เป็นได้

8. อย่าคิดว่าเป็นนายแล้วมีอำนาจเบ็ดเสร็จ  อาจจะมีกลไกมาถ่วงดุลย์ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่น  มาเฟีย  สหภาพ  กลุ่มก้อนพนักงานเก่า  หรือบางคนที่เป็นพนักงานระดับล่างแต่สามารถชี้นำคนหมู่มากได้

9. เงินไม่ใช่แรงจูงใจที่ดีที่สุด  อาจจะไม่เวิร์คสำหรับบางคน  คนไทยหลายคนไม่สามารถใช้เงินมาล่อเขาได้  หาให้เจอว่าอะไรจูงใจแต่ละคนจริง ๆ

10. อย่าคิดว่าคนเก่งจะอยู่กับเราตลอดไป  ผมเองแปลกใจบ่อย ๆ เวลาคนเก่งมาขอลาเนื่องจากกำลังจะออกไป  เมื่อถามว่าทำไมไม่เข้ามาคุยกันก่อนตัดสินใจ  คำตอบที่ฟังแล้วแทบตกเก้าอี้คือ  นายไม่มีเวลาให้เข้าพบนี่ครับ  แต่ว่าผมมีเวลาแก้ปัญหาเมื่อขาดคนเก่งไปแล้ว”

สาโรจน์ถามต่อ  “ข้อเก้าและสิบ  มีแนวทางแก้ไขอย่างไรครับ”

“หลังจากผมอ่านหนังสือชื่อ LOVE’EM or LOSE:EM ของ Beverly Kaye and Sharon Jordan-Evans  เขาเขียนถึงผู้บริหารบางองค์กรมีระบบที่เรียกว่า Stay Interview  ที่มาก็คือองค์กรส่วนใหญ่มักจะมีแต่ Exit Interview  คือกระบวนการเก็บข้อมูลเวลาพนักงานมาขอลาออก

แต่ว่าองค์กรน่าจะมีกระบวนการที่จะเรียนรู้ว่าทำไมพนักงานจึงอยู่กับเรา  และจะอยู่กับเราไปอีกนาน

ผมจึงพัฒนาต่อยอดมาจากหนังสือเป็นชุดคำถามที่ผมใช้ถามคนของผมแต่ละคนว่า

– หากมีการมอบหมายงานที่ไม่ปกติควรสื่อสารแบบไหน

– หากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจะบอกอย่างไรดี

– นอกจากเงินแล้ว  จะจูงใจคุณอย่างไร

– เมื่อคุณทำงานพลาดโดยไม่รู้ตัว  หัวหน้าจะสื่อสารอย่างไรให้เหมาะ

– ถนัดอะไร  ชอบทำอะไร

– ไม่ถนัดอะไร  และหากต้องมอบหมายให้ทำงานที่ไม่ถนัด  ควรจะมอบหมายอย่างไร”