“อาจารย์คะ ชีวิตมันไม่ยุติธรรมเลย” เล็กโทรมาหาผม ตอนนี้เธอทำงานเป็น ผู้บริหารฝึกหัด (Management Trainee) ขององค์กรขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง
“เกิดอะไรขึ้นหรือครับ” ผมถามกลับ
“ในโครงการ Management Trainee เรามีกัน 10 คน หลังการอบรมในประเทศ 6 เดือนพวกเราจะถูกส่งไปฝึกงานต่างประเทศเป็นเวลาหนึ่งเดือน มีเพียงประเทศอังกฤษและอเมริกาที่ทุกคนตื่นเต้นอยากไป นอกนั้นเป็นประเทศในอาเชี่ยนที่พวกเรารู้สึกเฉย ๆ
เล็กไม่ได้ไปอังกฤษและอเมริกาทั้งที่ผลการฝึกงาน 6 เดือนที่ผ่านมานั้นอยู่ในอันดับ 1หรือ 2 มาตลอด มันช่างไม่ยุติธรรมเลย
เจ้านายเป็นคนตัดสินใจว่าใครได้ไปประเทศไหน การตัดสินใจเธอต้องลำเอียงแน่เพราะเธอใกล้ชิดกับ 2 คนที่ได้ไปอังกฤษและอเมริกา
อาจารย์คิดว่าเจ้านายยุติธรรมมั๊ยละคะ”
“ผมไม่ทราบนะ แล้วผมก็ไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะตัดสินเธอในเรื่องนี้ ใครเป็นคนประเมินผลงานของเจ้านายคุณล่ะ”
“ซีอีโอค่ะ”
“ฉะนั้น ตราบใดที่เจ้านายคุณยังอยู่ เธอก็เป็นผู้มีสิทธิตัดสินใจ”
“ก็เข้าใจค่ะ แต่โกรธเพราะนี่ไม่ใช่ความผิดของเล็กเลย”
“ทำไมคุณถึงโกรธเธอละ”
“เธอลำเอียงคะ”
“แล้วเล็กเองเคยต้องตัดสินใจเรื่องอะไรที่มีผลกระทบต่อคนอื่น ๆ บ้างมั๊ย”
“มีค่ะ เล็กเป็นลูกคนโตเลยมีหน้าที่ตัดสินใจว่าใครจะได้ของขวัญอะไรในช่วงงานเทศกาลต่าง ๆ”
“เวลาตัดสินใจ คุณทำอย่างไร”
“เล็กก็พยายามที่จะให้น้อง ๆ ทั้งสามได้รับของขวัญอย่างยุติธรรมที่สุด”
“แล้วพวกเขาเคยบ่นว่าไม่ยุติธรรมบ้างไหมครับ”
“บ่อยครั้งค่ะ”
“เห็นมั๊ยเล็ก เวลาที่เราเป็นคนตัดสินใจเราก็พยายามที่จะทำอย่างยุติธรรมที่สุด แต่เวลาที่เราเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจของผู้อื่นเราก็มักจะรู้สึกว่าเราไม่ได้รับความยุติธรรม ในกรณีนี้ สองคนที่ได้ไปอังกฤษและอเมริกาอาจรู้สึกว่าตัดสินยุติธรรมดี แต่หลายคนที่เหลืออาจไม่รู้สึกเช่นนั้น
แทนที่จะคร่ำครวญ คุณควรจะมองเรื่องนี้ในเชิงบวกว่าคุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง”
“เล็กเรียนรู้ว่าสองคนนั้นได้ดีเพราะเอาใจเจ้านายตลอดเวลา”
“คุณตัดสินเพื่อนคุณอีกแล้ว พยายามมองแบบเป็นกลางแล้วบอกซิว่าสองคนนี้เค้าทำอะไรที่ต่างไปจากคุณบ้าง”
“พวกเขามักอาสาทำงานเพิ่มเติม แล้วก็สื่อสารกับเจ้านายอย่างสุภาพถึงแม้ว่าจะไม่เห็นด้วยก็ตาม อ๋อ เล็กรู้แล้ว บางทีเล็กอาจจะแข็งกร้าวกับเจ้านายและทุกคนมากไป เวลาที่เล็กมีความเห็นที่แตกต่างจากคนอื่นก็จะพยายามผลักดันความเห็นของตัวเองโดยไม่ฟังใคร บางที่เล็กอาจต้องพยายามที่จะสื่อสารกับผู้อื่นอย่างมีกุศโลบายมากกว่านี้
แต่เล็กก็ยังผิดหวังอยู่ดี ที่ไม่ได้ไปสองประเทศนั้น”
“สิ่งที่คุณเรียนรู้ในตอนนี้มีค่ามากกว่าการได้ไปฝึกงานที่ประเทศเหล่านั้นเสียอีก”
“หมายความว่ายังไงคะ”
“คุณได้บทเรียนที่สำคัญมากในชีวิต คุณได้เรียนรู้ว่าการสื่อสารกับผู้ใหญ่อย่างแข็งกร้าวจะไม่สามารถซื้อใจได้ ผมเคยเห็นคนที่อายุกว่า 60 กว่าแล้วหลายคน ยังติดนิสัยที่ไม่ดีนี้อยู่ เพราะพวกเขาอาจไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ในเรื่องนี้แบบคุณ”
“โอ้” เล็กเกิดช่วงเวลา “อะฮ้า” ขึ้น แล้วเธอก็เงียบไปสักครู่
“อาจารย์ เข้าใจแล้วค่ะ แต่เล็กยังมีอีกปัญหานะคะ”
“อะไรหรือ”
“หลังจากทราบประเทศที่จะไปฝึกงาน เล็กก็ตรงเข้าไปห้องเจ้านายเพื่อถามถึงเกณฑ์ในการตัดสิน เธอก็อธิบายให้ฟัง แต่เล็กไม่เห็นด้วยแล้วยังใส่อารมณ์กับเธอ หลังจากคุยเสร็จ ตอนออกจากห้องเล็กเหวี่ยงประตูปิดดังโครม เล็กว่าเธอต้องยังโกรธอยู่แน่ ๆ”
“แล้วตอนนี้คุณรู้สึกอย่างไรกับเธอ”
“ยังโกรธอยู่”
“เพราะอะไร”
“เธอไม่ยุติธรรม”
“เล็กคิดว่าตอนเธอตัดสินใจ เธอจงใจที่จะลำเอียงให้สองคนนั้นหรือ”
“อาจจะไม่”
“ผมเห็นด้วย เหตุการณ์มันก็คล้าย ๆ กับเวลาที่คุณตัดสินใจซื้อของขวัญให้น้องนั่นแหละ ดังนั้นคุณควรทำทานด้วยการให้อภัยเธอ อย่างที่พระพุทธเจ้าเคยสอนใว้ว่าการให้มีอยู่สามอย่าง คือ ให้อภัย – อภัยทาน ให้ความรู้ – วิทยาทาน และให้สิ่งของ – อามิสทาน
อภัยทานนั้นเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด รองลงมาคือวิทยาทาน และอามิสทาน”
“เล็กควรให้อภัยและกลับไปขอโทษเธอ และก็ขอให้เธอทำทานโดยการให้อภัยเล็กเช่นกันดีไหมคะ”