คนรุ่นใหม่ในเอเชีย (Talent in Asia)

เมื่อเร็วๆนี้ผมได้มีโอกาสไปบรรยายให้กับโครงการบัณฑิตศึกษาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือที่รู้จักกันในนามของ NIDA ในหัวข้อเรื่อง Career Development

ระหว่างเบรคทานกาแฟ นักศึกษาห้าคนที่มีท่าทีกระตือรือล้นได้เข้ามาล้อมถามผมว่า

“อาจารย์ครับ พวกเราตั้งใจว่าเมื่อจบแล้ว พวกเราจะเข้าไปทำงานในบริษัทข้ามชาติ (Multi national corporations – MNCs) เราคิดว่ามันเป็นหนทางความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เพราะเราคาดหวังว่าจะได้มีโอกาสโยกย้ายไปทำงานในต่างประเทศด้วย พวกเราควรเตรียมเนื้อเตรียมตัวกันอย่างไรดีครับ”

“ผมว่าเป็นความคิดที่ดีนะครับ ก่อนที่ผมจะบอกว่าต้องมีคุณสมบัติอะไรนั้น ผมอยากจะเล่าให้ฟังว่าแนวโน้มของโลกมันจะเป็นอย่างไร ผมอ่านจากหนังสือชื่อ Mastering Business in Asia – Human Resource Management เขียนโดย Hugh Bucknall and Reiji Ohtaki from Mercer Human Resource Consulting. ในหนังสือเขาอ้างถึงแนวโน้มหกข้อในองค์กรข้ามชาติหรือ Six key global organization trends ไว้ดังนี้

  1. องค์กรจะมีสายการผลิตผลิตภัณฑ์ แบบทั่วโลก
  2. โครงสร้างองค์กรจะมีลำดับชั้นน้อยลง
  3. จะมีการควบรวมกันระหว่างบริษัทมากขึ้น
  4. ระบบการทำงานจะเป็นแบบเครือข่าย มากกว่าจะเป็นแบบลำดับขั้น ซึ่งอาจจะต้องมีการรายงานหัวหน้าหลายคน ที่ประจำอยู่ในหลายประเทศ
  5. จะเริ่มมีการบริหารงานแบบทีมงานเครือข่ายเสมือนจริง ในหลายประเทศ
  6. บริษัทแม่จะควบคุมน้อยลง โดยแต่ละประเทศจะมีอิสระในการบริหารมากขึ้น”

พวกเขาตั้งอกตั้งใจฟังกันน่าดู บางคนถึงกับยืนจดเล็คเชอร์กันเลย นับว่าเป็นกลุ่มนักศึกษาที่มีความตั้งใจสูงมากจนผมรับรู้ได้ถึงพลังไร้ขีดจำกัดของพวกเขา นักศึกษาหญิงคนหนึ่งไม่รีรอ เธอยิงคำถามต่ออย่าร้อนรน

“แนวโน้มทั้งหกข้อ มันมีนัยสำคัญอย่างไรคะ”

“ในหนังสือเขาเขียนต่อไปว่า แนวโน้มแต่ละข้อ ทำให้องค์กรมองหายอดพนักงานที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

  1. จูงใจตนเองได้ – องค์กรที่มีลำดับขั้นน้อย และมีสายการผลิตทั่วโลก อีกทั้งมีสายงานบังคับบัญชาแบบเครือข่ายหลายประเทศ เป็นไปได้มากที่นายของคุณอาจจะอยู่คนละสำนักงานหรือคนละประเทศ ดังนั้นคุณจะคาดหวังให้ใครมาจูงใจคุณไม่ได้นอกจากตัวคุณเอง

นอกจากนี้สายงานบังคัญบัญชามีแนวโน้มว่าคุณจะมีนายมากกว่าหนึ่งคนที่ต้องรายงาน ผู้บริหารที่จะประสบความสำเร็จได้ ต้องเป็นคนที่สามารถริเริ่มทำอะไรได้ด้วยตนเอง ตั้งแต่ต้นจนจบโครงการ โดยให้มีคนมาคอยให้คำแนะนำช่วยเหลือน้อยที่สุด

  1. มีภาวะผู้นำ – เชื่อมโยงไปกับข้อแรก ภาวะผู้นำต้องมีสูงในพนักงานทุกระดับ ไม่ว่าสูงหรือต่ำ ทุกคนต้องยืนบนลำแข้งตนเองมากกว่าอดีต
  2. มีความพร้อมในการโอนย้ายไปต่างประเทศ – การเป็นผู้บริหารสมัยใหม่ต้องพร้อมเสมอที่จะโยกย้ายไปประเทศไหนก็ได้โดยไม่เลือก เพราะว่าโอกาสมีมากขึ้น แต่ทุกคนก็ต้องพร้อม เราไม่สามารถที่จะเลือกประะเทศได้ เพราะว่าตำแหน่งงานในแต่ละประเทศจะมีให้เลือกน้อยลง โดยเฉพาะในประเทศเล็ก ๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ ซึ่งแต่ละสำนักงานอาจจะใช้คนไม่มากนัก
  3. ประสบการณ์ในการทำงานต่างประเทศ – บริษัทข้ามชาติต้องการคนที่มีประสบการณ์การทำงานต่างประเทศร่วมกับคนที่มีวัฒนธรรมและภาษาที่แตกต่างกัน การที่ได้มีประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศ เป็นปัจจัยที่มีสาระสำคัญ เพราะว่าการทำงานร่วมกับคนต่างชาติต่างภาษาเป็นเรื่องไม่ง่าย อีกทั้งหลายครั้งเราต้องทำงานในแบบโลกเสมือนจริง คือทำงานผ่านโครงการต่าง ๆ กับคนที่อาจจะแค่เจอกันครั้งสองครั้ง แต่ที่เหลือใช้การติดต่อสื่อสารกันทางอีเมล์หรือโทรศัพท์ข้ามประเทศเสียส่วนใหญ่
  4. ทักษะการสื่อสาร – การทำงานในโลกเสมือนจริงข้ามประเทศทำให้ต้องมีทักษะภาษาอังกฤษที่เป็นเลิศ การที่มีความรู้ในงานที่เก่งเพียงอย่างเดียว คงจะทำงานได้เพียงแค่ในประเทศของตัวเองเท่านั้น ไม่สามารถที่จะไปทำงานโครงการต่าง ๆ หรือโอนย้ายไปยังต่างประเทศได้ ในโลกยุคนี้ ภาษาอังกฤษจึงจำเป็นมากสำหรับพนักงานในบริษัทข้ามชาติทุกระดับที่ต้องการความก้าวหน้า”

“อาจารย์คะ อาจารย์มีประสบการณ์ในการทำงานกับคนต่างวัฒนธรรมกันมามาก คนไทยเราต้องมีคุณสมบัติอะไรอีกคะ นอกจากที่หนังสือที่อาจารย์เล่ามาแล้ว หากเราต้องการทำงานประสบความสำเร็จในยุคนี้ค่ะ”

“เป็นคำถามที่ดีมากครับ ที่คุณกำลังทำอยู่นี่แหละเป็นหนึ่งในหกข้อที่ผมรียกว่า คุณสมบัติของมืออาชีพพันธ์ A สำหรับคนไทย

A ตัวแรกคือ Adversity quotient คือการมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อปัญหาและอุปสรรค หากเราต้องการความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เราต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคอีกจำนวนมาก และเราต้องสามาถที่จะแก้ไขแบบชาญฉลาดด้วย ดังนั้นเราต้องมองปัญหาเป็นโอกาสในการใช้พลังความคิดสร้างสรรค์ของเรา และเป็นโอกาสแสดงความมุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จจากการมีประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหามากมายมาก่อน

ตัวต่อไปคือ Analytical skill คือคุณสมบัติที่จำเป็นในการรวบรวมข้อมูล จัดเรียบเรียงเป็นหมวดหมู่ และวิเคราะห์ถึงนัยสำคัญของผลที่จะตามมา เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนไทย เพราะว่าเราถูกฝึกให้จำ ไม่ค่อยได้ถูกฝึกให้คิดเท่าไร แต่ก็เรียนกันได้

เมื่อวิเคราะห์เป็นแล้ว ต่อไปก็ Articulate your thought effectively คือการที่เราต้องมีความสามารถในการถ่ายทอดสิ่งที่เราคิดโดยสื่อสารออกมาเป็นคำพูด หรือตัวอักษรเพื่อให้คนอื่นเข้าใจได้ง่าย ไม่งั้นให้วิเคราะห์เก่งอย่างไรก็เปล่าประโยชน์หากไม่สามารถถ่ายทอดออกมาได้

หลังจากนั้นก็คือ Adaptability คือการปรับตัว เราต้องมีทัศนคติที่ดีต่อการปลี่ยนแปลง โดยต้องเข้าใจว่าเราอยู่ในโลกที่ดูโกลาหล และสับสน เราไม่สามารถฝืนข้อเท็จจริงข้อนี้ได้ เราต้องปรับตัวให้ได้ไว และทันต่อสถานการณ์ที่พลิกผันได้อย่างรวดเร็ว

ถัดไปคือ Assertiveness คือการแสดงออกอย่างเหมาะสมเมื่อเราไม่เห็นด้วย ก็กล้าพูดออกมา การมีส่วนร่วมในที่ประชุม ไม่ใช่นั่งเงียบลูกเดียว เราต้องกล้ามีความเห็น และกล้าแสดงความคิดเห็นของเรา

สุดท้ายคือ Asking เมื่อไม่เข้าใจก็ถาม อย่างที่พวกเธอกำลังทำนี่แหละ เมื่อต้องการความช่วยเหลือ หรือต้องการการเรียนรู้ก็ถาม อย่าอายที่จะถามเด็ดขาด”