ผมมีโอกาสร่วมเป็นกรรมการคณะหนึ่ง ที่มีผู้นำที่มีความสามารถทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมอยู่ด้วย ในระหว่างเบรค มีการสนทนาวิจารณ์ภาวะผู้นำและการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีกรณีมาบตาพุด
ดร.วีพูดขึ้นว่า “ผมอ่านหนังสือชื่อ Judgment เรื่องภาวะผู้นำกับการตัดสินใจของคนเก่ง ๆ เขียนโดย โนเอล ทิซี และวอร์เร็น เบนนิส”
ดร.ทีพยักหน้า “ทั้งสองเป็นกูรูภาวะผู้นำ โนเอลเขียนหนังสือเช่น Leadership Engine และวอร์เร็นก็มีหนังสือดังเช่น On Becoming a Leader”
ดร.วียิ้มแล้วพูดต่อ “ผู้เขียนทั้งสองเชื่อว่าการตัดสินใจเป็นเรื่องที่สร้างหรือทำลายภาวะผู้นำ หากไม่มีการศึกษาอย่างลึกซึ้งว่าผู้นำมีกระบวนการในการตัดสินใจอย่างไรแล้ว การเรียนรู้เรื่องภาวะผู้นำก็ยังไม่สมบูรณ์ โดยมีข้อสังเกตว่า
การตัดสินใจเป็นหัวใจของภาวะผู้นำ หากมีการตัดสินใจที่ดีเรื่องอื่น ๆ ก็มีนัยสำคัญน้อยมาก หากตัดสินใจแย่เรื่องอื่น ๆ ก็ไม่มีความหมาย ลองนึกดูว่า ประธานาธิบดี ซีอีโอ หรือโค้ช ที่โด่งดัง พวกเขาจะถูกจดจำ จากการตัดสินใจที่ดีหรือเลวของพวกเขาทั้งนั้น
ในการตัดสินใจนั้น สิ่งที่มีความหมายคือการตัดสินใจที่ประสบผลสำเร็จ หากตัดสินใจแล้วล้มเหลว ไม่ว่าจะกระตือรือร้น หวังดี ทุ่มเทหนัก เพียงใดก็ตาม มันก็ไม่มีผล หากการตัดสินใจผิด”
ดร.ทีกระเซ้าว่า “ท่านกำลังว่ากระทบนายกฯเรื่องความขยันหรือความเป็นคนดีหรือเปล่า”
“ไม่รู้ซีครับ คุณก็ต้องใช้ดุลยพินิจของคุณเอง” กระเซ้ากลับทันที ก่อนจะเล่าต่อ
“หนังสือบอกว่าจากการศึกษาพบว่าโครงร่างการตัดสินใจของผู้นำเก่ง ๆ มีสามส่วนคือ
เวลา แบ่งเป็น
ก่อนการตัดสินใจ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
เมื่อตัดสินใจ ผู้นำที่เก่งๆทำอย่างไรจึงตัดสินใจออกมาดีส่วนใหญ่
หลังการตัดสินใจ สิ่งที่ลงมือทำเพื่อให้การตัดสินใจบรรุผลตามความคาดหวัง
ขอบข่าย การตัดสินใจเรื่องสำคัญของผู้นำมีสามเรื่องใหญ่ ๆ คือ
บุคลากร
ยุทธศาสตร์
วิกฤต
ผู้ตาม ผู้นำต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ตามจำนวนมาก เขาต้องบริหารความสัมพันธ์เหล่านั้นเพื่อให้การตัดสินใจบรรลุผลสำเร็จ
นอกจากนี้เพื่อให้เกิดการพัฒนาการตัดสินใจในองค์กร ผู้นำต้องใช้โอกาสในการตัดสินใจเป็นการสอนคนอื่นในองค์กรเรื่องการตัดสินใจด้วย มีองค์ความรู้อยู่สี่ประเภทเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ
ความรู้เกี่ยวกับตนเอง ท่านเรียนรู้อย่างไร ท่านเผชิญความจริงอย่างไร ท่านดูและฟังหรือไม่ ท่านปรารถนาที่จะพัฒนาการตัดสินใจของตนหรือไม่
ความรู้เกี่ยวกับเครือข่ายทางสังคม ท่านรู้วิธีสร้างทีมงานที่แข็งแกร่งหรือไม่ ท่านสอนทีมงานให้ตัดสินใจเก่งขึ้นได้อย่างไร
ความรู้เกี่ยวกับองค์กร ท่านสามารถดึงจุดแข็งของคนอื่น ๆ ในองค์กรมาใช้หรือไม่ ท่านสามารถจัดทำแผนการสอนการตัดสินใจให้ทั่วถึงหรือไม่
ความรู้เชิงบริบท ท่านรู้วิธีที่จะสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ชาญฉลาดกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆเพียงใด”
“ช่วยยกตัวอย่างกรณีการตัดสินใจในสถานการณ์วิกฤตจากหนังสือซักเรื่องหนึ่งซีครับ” ท่านหนึ่งถามขึ้นมา
“ในปีค.ศ. 1982 เมื่อจอห์นสันแอนด์จอห์นสันถูกคนลอบใส่ยาพิษลงในยาแก้ปวดไทลีนอล ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่โด่งดังในการบริหารธุรกิจ ซีอีโอขณะนั้นคือ จิม เบิร์ค ตัดสินใจที่จะเรียกคืนสินค้าทั้งหมดจากท้องตลาด พร้อมทั้งให้ความมั่นใจกับผู้บริโภคและพนักงาน โดยยึดหลักการของบริษัทว่าลูกค้ามาก่อน ในที่สุดลูกค้าก็ให้การยอมรับไทลีนอลมาจนทุกวันนี้”
ผมจึงเสริมตัวอย่างผมบ้าง “ผมอ่านจากเว็บของนิวยอร์คไทม์ว่า เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2552 มีนักบินชื่อเชสลี่ ซัลเล็นเบอร์เจอร์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นวีระบุรุษ เพราะสามารถนำเครื่องบินที่มีผู้โดยสารกว่า 150 คน ลงจอดฉุกเฉินในแม่น้ำฮัดสัน ที่นิวยอร์คได้อย่างปลอดภัย เขานำเครื่องลงจอดในแม่น้ำด้วยความเชี่ยวชาญ เสร็จแล้วรีบมาช่วยอพยพผู้โดยสารขณะที่น้ำทะลักเข้าไปในลำตัวเครื่อง เขาช่วยอพยพทุกคนขึ้นอย่างปลอดภัย ในขณะที่เครื่องกำลังจม เขายังเดินลงไปตรวจในเครื่องลงอีกสองรอบ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีคนหลงเหลืออยู่ แล้วจึงขึ้นเรือกู้ภัยเป็นคนสุดท้าย
ประสบการณ์การบินมากว่า 29 ปีมีความหมาย เขารู้ว่าจะต้องทำอะไร และทำอย่างไร
ที่สำคัญคือนักบินต้องผ่านการฝึกในเครื่องบินจำลองเป็นร้อยชั่วโมงก่อนจะบินจริง แต่ผู้บริหารไม่ค่อยมีโอกาสได้ลองฝึกเลย”