ชนะใจคนไทย

“โค้ชเกรียงศักดิ์ครับ ผมได้มีโอกาสอ่านบทความเรื่อง CEO Succession 2011 – The New CEO’s First Year โดย Booz & Company”

“คุณเคลาส์ เพราะอะไรคุณจึงสนใจเรื่องนี้ครับ”

“ผู้เขียนสัมภาษณ์ซีอีโอจากทั่วทุกมุมโลกในสาขาอาชีพต่างๆกันถึง 18 ท่านเกี่ยวกับประสบการณ์การเป็นซีอีโอในปีแรก  ทั้ง 18 ท่านได้ให้คำแนะนำดีๆเจ็ดข้อถึงสิ่งที่พวกท่านคิดว่าถ้าย้อนเวลาไปได้ตนอยากทำต่างไปจากเดิม คือ

1 เผชิญหน้ากับการปรับทีมผู้บริหารแต่เนิ่นๆ 2 อย่าเปลี่ยนกลยุทธ์เร็วเกินไปแม้ว่ากลยุทธ์ที่ใช้อยู่จะไม่ดีก็ตาม 3 ทำความเข้าใจการทำงานและผลการทำงานของทุกฝ่ายขององค์กร 4 สร้างความเชื่อมั่นจากความโปร่งใส 5 เลือกฟังคำแนะนำต่างๆที่ได้รับ 6 หาบุคคลช่วยสะท้อนความคิดที่มีความรู้มาก ไม่ว่าจะเป็นคนใน หรือคนนอกองค์กรก็ตาม 7 บริหารเวลาและชีวิตอย่างระมัดระวัง”

“ทั้งเจ็ดข้อนี้นำมาใช้กับกรณีของคุณได้อย่างไรครับ”

“ใช้ได้เกือบทุกข้อครับ และผมยังมีคำแนะนำสำหรับชาวต่างชาติที่ใหม่ต่อการทำงานในเมืองไทยอีกด้วย”

“ผมอยากทราบครับ”

“มันก็เป็นอย่างที่โค้ชเคยเขียนใว้ในหนังสือแล้วนะครับ ว่าแต่ละบุคคลมีมุมมองที่ต่างกันและขึ้นอยู่กับพื้นฐานของแต่ละคน

ในกรณีของผม  เมืองไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่ผมจากบ้านเกิดมาทำงาน ผมจึงตระหนักอยู่เสมอถึงการทำงานในต่างวัฒนธรรม แต่ผมก็ยังทำผิดพลาด”

“พลาดอย่างไรครับ”

“ประเทศไทยนั้นมีความเป็นเอกลักษณ์ของตนเองสูง เช่น ภาษา หลังจากผ่านไปซักพัก ผมเรียนรู้ว่าคนส่วนมากที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีนั้นเป็นเด็กรุ่นใหม่ ไฟแรงแต่ขาดประสบการณ์ ทำให้มีดุลยพินิจและวุฒิภาวะที่ยังไม่เป็นมืออาชีพมากนัก

ในทางตรงกันข้ามผู้บริหารที่ฉลาด วุฒิภาวะสูง และมีดุลพินิจดีนั้นมักจะมีอายุ  และที่สำคัญสื่อสารภาษาอังกฤษได้ไม่คล่อง

ในช่วงหกเดือนแรก ผมตัดสินใจผิดไปในหลายเรื่องเพราะผมตัดสินคุณภาพของข้อมูลที่ได้จากระดับความสามารถการสื่อสารภาษาอังกฤษของลูกน้อง

จากนั้นผมจึงจ้างล่ามเพื่อตัดปัญหาเรื่องภาษา และเริ่มเรียนภาษาไทยอย่างจริงจังอีกด้วย ผ่านไปหกเดือนจึงรู้สึกว่าภาษาไม่ใช่ปัญหาใหญ่อีกต่อไป”

“เยี่ยมมากเลยครับ  มีคำแนะนำอื่นๆอีกไหมครับที่คุณสามารถให้แก่ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในเมืองไทยเป็นครั้งแรก”

“โค้ชครับ ด้านการตลาดนั้นเราเรียนรู้เกี่ยวกับ 4P มานะครับ ผมจึงอยากนำเสนอ 4P เกี่ยวกับการทำงานร่วมกับชาวไทยครับ คือ Patience, Patience, Patience และ Patience หรือ อดทน อดทน อดทน อดทน นั่นเองครับ  เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะต้องมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับค่านิยมแบบไทยๆและแบบตะวันตก

ผมถูกสอนมาว่า เวลาเป็นเงินเป็นทอง  แต่ค่านิยมนี้ใช้ไม่ได้กับชาวไทย

การสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานให้ชาวไทยนั้นต้องเริ่มจากการสร้างความเชื่อใจก่อน และความเชื่อใจสำหรับคนไทยนั้นก็มาจากความสัมพันธ์ล้วนๆ  ผมจึงต้องแสดงให้พวกเขาเห็นก่อนว่าผมแคร์  จากนั้นพวกเขาจึงให้ความเชื่อใจและความนับถือตอบ  การแสดงความแคร์ออกมานั้นหมายถึงการเรียนรู้เกี่ยวกับประเพณี วัฒนธรรม และธรรมเนียมไทยต่างๆ  ผมได้เรียนรู้ว่าค่านิยมของชาวไทยส่วนมากคือ ความสัมพันธ์ ระบบอาวุโส และการรักษาหน้า นั้น  มีความลึกซึ้งและต่างจากที่ผมเข้าใจเป็นอย่างมาก

โค้ชครับ  ผมเริ่มพูดมากไปแล้ว  แล้วโค้ชมีคำแนะนำอื่นๆเพิ่มเติมไหมครับ”

“เมื่อไม่นานมานี้ผมได้พบกับชาวเยอรมันที่ได้ร่วมงานกับชาวไทยมามากกว่ายี่สิบปี ผมจึงถามเขาเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกัน เขาได้ให้คำตอบที่น่าสนใจคือ

เมื่อคุณเริ่มเข้ามาทำงานร่วมกับชาวไทย คุณต้องคิดเสมือนว่าคุณเป็น แขก อยู่เสมอ ถ้าคุณคิดเช่นนี้ คุณก็จะตระหนักรู้อยู่ตลอดเวลาและพยายามเรียนรู้จากเจ้าบ้านให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  ในระหว่างนั้นคุณอาจจะทำผิดพลาดไปบ้างแต่พวกเขาก็จะอภัยให้และยินดีที่จะให้ข้อมูลย้อนกลับ  ถ้าคุณเปิดใจมากพอ คุณก็จะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองได้โดยง่าย”

“เป็นคำแนะนำที่เยี่ยมมากเลยครับ  เพราะถ้าคุณทำตัวเป็นแขกคุณก็จะปฏิบัติต่อลูกน้องต่างไป คุณจะให้เกียรติพวกเขามากขึ้นและออกคำสั่งน้อยลง

จากประสบการณ์ของโค้ช  ปกติแล้วชาวต่างชาติต้องใช้เวลานานแค่ไหนในการเรียนรู้และปรับตัวเข้าหาคนไทยได้ดีครับ”

“ผมจำแนกออกเป็นสามกลุ่มครับ กลุ่มเรียนรู้เร็ว กลุ่มเรียนรู้ช้า และกลุ่มดื้อ

สำหรับกลุ่มเรียนรู้เร็วนั้นจะใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน โดยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เป็นส่วนน้อย

ต่อมา กลุ่มเรียนรู้ช้า กลุ่มนี้จะเป็นคนส่วนใหญ่ ใช้เวลาประมาณ 12-18 เดือนเพื่อที่จะเปิดใจยอมรับชาวไทยในแบบที่พวกเขาเป็น

สำหรับกลุ่ม ดื้อ นั้นอาจใช้เวลามากกว่าสามปีเพื่อเรียนรู้ในการทำงานร่วมกับชาวไทย”

“แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าใครอยู่กลุ่มไหนครับ”

“แล้วแต่บุคคลครับ”

“ขึ้นอยู่กับอะไรครับ”

“ขึ้นอยู่กับกรรมของแต่ละคน  เราชาวพุทธเชื่อเรื่องกฏของกรรม แต่ในกรณีนี้ผมพูดถึงอัตตา ยิ่งคุณมีอัตตาสูงเท่าไรคุณก็จะยิ่งเรียนรู้ได้ช้ายิ่งขึ้นเท่านั้น”