ลาออกอย่างมืออาชีพ

บริษัทจำนวนมากในประเทศไทยรวมโบนัสสิ้นปีไว้ในแพคเกจค่าตอบแทนของการทำงาน ทำให้พนักงานจำนวนหนึ่งรอรับโบนัสก่อนแล้วจึงลาออก

โดยมากแล้วองค์กรกำหนดให้ยื่นใบลาออกล่วงหน้าหนึ่งเดือน แต่พนักงานจำนวนมากก็มีวันหยุดสะสมใว้มากพอที่จะใช้วันหยุดเหล่านั้นทำให้เวลายื่นจดหมายลาออกล่วงหน้าเหลือเวลาทำงานไม่ถึงหนึ่งเดือนเต็ม เป็นเหตุให้มีเวลาไม่เพียงพอเพื่อส่งต่องานให้ผู้มาแทน

การลาออกอย่างไม่เหมาะสมทำให้คุณเสียชื่อเสียงและองค์กรก็เสียหายด้วยเช่นกัน

ต่อไปนี้คือแนวทางการลาออกอย่างมืออาชีพครับ

  1. เตรียมคนมารับหน้าที่แทนคุณ กระบวนการนี้ควรเริ่มตั้งแต่วันแรกที่คุณเข้าทำงาน เมื่อคุณยื่นจดหมายลาออก แจ้งนายให้ทราบว่าใครจะมารับหน้าที่แทนคุณ แต่ถ้าคุณไม่ได้เตรียมการในขั้นตอนนี้ไว้ ขั้นตอนต่อไปจะมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด
  2. ให้เวลาแก่ผู้มารับหน้าที่แทนคุณเป็นเวลาประมาณสองเดือน ถ้าจะให้ดีที่สุดควรให้เวลาล่วงหน้าสามเดือน เพราะโดยทั่วไปฝ่ายบุคคลต้องใช้เวลาถึง 30-45 วันในการจัดจ้างคนใหม่ การให้เวลากับองค์กรมากสักนิดจะทำให้การส่งมอบงานเป็นไปอย่างราบรื่นสมบูรณ์มากขึ้น
  3. ทำงานให้หนักเท่าเดิมหรือหนักกว่าเดิมหลังจากยื่นจดหมายลาออกแล้ว  เพราะอะไรน่ะหรือ เพราะนี่เป็นประโยนช์ตรงๆถึงคุณ ผู้อื่นจะจดจำว่าคุณเป็นเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบ แล้วตัวคุณจะได้อะไรน่ะหรือ การทำเช่นนี้จะมีผลต่อการอ้างอิงที่ดีของคุณในอนาคต หากคุณกำลังได้รับพิจารณาให้รับตำแหน่งที่มีความสำคัญ ว่าที่เจ้านายใหม่ของคุณจะรู้สึกอย่างไรถ้าได้รับข้อมูลอ้างอิงเชิงบวก  นอกจากนั้นคุณอาจได้รับการจ้างกลับไปยังองค์กรเดิมเพื่อให้รับตำแหน่งทีมผู้บริหารระดับสูง ลองจินตนาการสิครับว่าทีมงานจะต้อนรับคุณเป็นอย่างดีเมื่อได้ทราบถึงชื่อเสียงที่คุณเคยสร้างใว้
  4. จัดทำคู่มือการทำงาน แม้องค์กรทั่วไปจะจัดทำเป็นเอกสารใว้แล้วแต่ส่วนมากมักไม่ทันสมัยและไม่ลงรายละเอียดมากพอให้เฉพาะภาพกว้างๆทำให้ต้องคาดเดาจากประสบการณ์ในบางกระบวนการทำงาน ต้องลองผิดลองถูก  อย่าให้ประสบการณ์ที่คุณมีติดตัวคุณไปจากองค์กร จงทำเป็นคู่มือที่ละเอียด ช่วยให้คนที่มาแทนที่คุณไม่ต้องเดาและไม่ต้องลองผิดลองถูก ถ้าคุณวางแผนเวลาดีๆทำให้มีเวลาสำหรับส่งมอบงานอย่างเหมาะสม การมีคู่มือที่ละเอียดนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับบุคคลที่มารับหน้าที่แทนคุณ
  5. อย่าให้ความคิดเห็นเชิงลบเกี่ยวกับบุคคลหรือสิ่งใดในองค์กรเดิม  คุณอาจรู้สึกว่าสิ่งต่างๆในองค์กรใหม่นั้นดีกว่าที่เดิม แต่คุณไม่สามารถตัดสินเช่นนั้นได้จนกว่าคุณจะใช้เวลาอยู่กับที่ใหม่นานเท่ากับที่เดิม  เราทุกคนมีแนวโน้มที่จะมองสิ่งใหม่ๆว่าดีกว่าเดิมเสมอ บ่อยครั้งที่สิ่งนี้เป็นภาพลวงตา เหมือนคำพูดที่ว่า “หญ้าบ้านอื่นเขียวกว่าบ้านเราเสมอ”
  6. ย้ำตนเองให้มั่นใจว่าลาออกด้วยเหตุผลที่เหมาะสม แดเนียล กูลาติ โพสผลงานวิจัยที่ Harvard Business Review Blog Network เกี่ยวกับความผิดหวังในเรื่องเกี่ยวกับอาชีพการงาน โดย อันดับหนึ่งที่มีผู้เสียใจมากที่สุดคือ “ไม่น่าเปลี่ยนงานเพราะได้เงินเพิ่มเลย” ดังนั้นอย่าเปลี่ยนงานเพราะเงิน ถ้าคุณเป็นคนเก่งแม้อยู่ในองค์กรเดิม คุณก็มีโอกาสสูงได้เลื่อนตำแหน่ง และได้เงินเดือนเพิ่มตามไปด้วย  เหตุผลในการลาออกควรจะเป็นเพราะนายจ้างใหม่ให้โอกาสคุณในการใช้จุดแข็งที่คุณมีและทำในสิ่งที่คุณชอบมากกว่า อย่างไรก็ตามถ้านายจ้างเดิมขอให้คุณอยู่ต่อและคุณเองก็ไม่มั่นใจว่างานใหม่คืองานที่ “ใช่” หรือไม่ ผมอยากขอให้คุณพิจารณาคำขอของนายจ้างเดิมให้มาก คุณอาจขอเปลี่ยนแปลงหน้าที่ความรับผิดชอบบ้างเพื่อให้มีโอกาสได้ใช้จุดแข็งของตนมากขึ้น แต่อย่าขอเงินเดือนเพิ่ม เพราะเมื่อใดก็ตามที่คุณสามารถทำงานได้ดี เงินที่มากขึ้นก็จะตามมาเอง
  7. อย่าโกหก เหตุผลโกหกที่ใช้ในการลาออกจากงานมากที่สุดคือ “ต้องดูแลพ่อ แม่ ญาติ” หรือ “ไปเรียนต่อ” ในที่สุดคนอื่นก็จะจับได้ว่าคุณโกหก ให้บอกไปตามตรงว่าคุณย้ายงานไปที่ใหม่เพราะมีโอกาสทางความก้าวหน้าอาชีพมากกว่า
  8. จากลาอย่างสำนึกในบุญคุณ บริษัทใหม่จ้างคุณก็เพราะประสบการณ์ที่คุณได้รับจากงานที่เดิม ดังนั้น จงขอบคุณองค์กร และทุกๆคนที่ทำงานร่วมกันมา  อย่าเผาสะพานเสียล่ะครับ