ตรวจสอบทัศนคติของตน

มีทัศนคติหลายเรื่องที่เป็นตัวปิดกั้นทำให้คนจำนวนมากไม่สามารถปลดปล่อยศักยภาพของตนเองออกมาได้อย่างเต็มที่ ตัวอย่างเช่น

  1. ติดกับดักความสบาย
  2. ทำงานตามหน้าที่รับผิดชอบให้ผ่านๆไปเท่านั้น
  3. เลี่ยงงานยากๆ
  4. ถ้าทำงานด้วยวิธีฉลาดๆได้ก็ไม่ต้องทำงานหนัก
  5. มาตรงต่อเวลาได้ก็ดีถมไปแล้ว
  6. วางแผนงานเท่าที่ได้รับมอบหมาย ไม่มีขาด ไม่มีเกิน
  7. อะไรที่ยังทำงานได้อยู่ก็ไม่จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุง
  8. ปัญหาต่างๆนั้นคนอื่นเป็นผู้เริ่มต้นมาทั้งนั้น

บุคคลที่ยิ่งใหญ่มักมีทัศนคติที่ต่างออกไป ดังนั้นถ้าเราสามารถเปลี่ยนทัศนคติได้ เราก็จะสามารถเปลี่ยนผลลัพธ์ได้ และในที่สุดก็จะสามารถทำให้โลกนี้ดีขึ้นด้วยการลงทุนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ต่อไปนี้คือทัศนคติที่ยิ่งใหญ่พร้อมตัวอย่างของพฤติกรรม

  • แทนที่จะปล่อยตัวไปกับกับดักของความสบาย เราต้องมีความหลงใหลในงานที่ทำ คนที่มีความหลงใหลในสิ่งที่ทำจะทราบว่าจุดแข็งและเป้าหมายในชีวิตของตนคืออะไร พวกเขารู้ว่าเราทุกคนเกิดมาบนโลกนี้อย่างมีเป้าหมาย โดยภาพรวมก็คือ พวกเขาความต้องการทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น ดังนั้นเป้าหมายของเขาคือการช่วยเหลือผู้อื่น  การคิดเช่นนี้ เราจะไม่หยุดทำงานเมื่องานของเราเสร็จเท่านั้น เพราะงานของผู้อื่นอาจยังไม่เสร็จ  ถ้าเราเชื่อว่าเราสามารถช่วยผู้อื่นได้ เราก็จะไม่ติดอยู่ในกับดักของความสบาย  การที่จะทำเช่นนั้นได้ เราต้องมีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน ถ้าคุณไม่แน่ใจว่าเป้าหมายชีวิตของตนคืออะไร ลองใช้คำถามของมาร์ติน ลูเธอร์ คิงส์ จูเนียร์ที่ว่า “คำถามเร่งด่วนของชีวิตเราคือ เรากำลังทำอะไรเพื่อผู้อื่นบ้าง”
  • คนจำนวนมากทำงานเพียงเพื่อให้ได้ตามมาตรฐานหรือส่งตรงเวลา โรเบิร์ต ทาวน์เซนด์ กล่าวใว้ว่า “ถ้าคุณจะไม่ทำสิ่งต่างๆอย่างดีเลิศ ก็ไม่ต้องทำเลยจะดีกว่า เพราะถ้าไม่ได้ทำให้ได้ผลเลิศ ก็จะไม่เกิดผลกำไรหรือความสนุก  แล้วถ้าคุณไม่ได้ต้องการทำธุรกิจเพื่อความสนุกหรือผลกำไร แล้วคุณมาทำบ้าอะไรอยู่”  แต่อย่างไรก็ตามการที่จะทำผลงานชั้นเลิศนั้นคุณจำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์ว่าเป้าหมายในชีวิตของตนคืออะไร  เพราะมันจะทำให้คุณมีความหลงใหลในงานที่ทำ
  • ผมเคยพยายามเลี่ยงงานที่ยากๆเมื่อมีโอกาส แต่โชคดีที่หลายๆครั้งผมไม่มีทางเลือกทำให้ต้องทำงานยากๆเหล่านั้น  และก็เป็นโชคร้ายของหลายๆคนที่มีพ่อแม่และเจ้านายที่คอยดูแลปกป้องอยู่เสมอทำให้ไม่ต้องเผชิญหน้ากับงานและสภาพแวดล้อมยากๆต่างๆ พวกเขาจึงเสียโอกาสที่จะเรียนรู้และเติบโต   มีคำพูดที่ว่า “ไม่เจ็บ ไม่โต” หรือ “No pain – no gain”  ในทางกลับกันบุคคลที่ยิ่งใหญ่ต่างๆมักเลือกที่จะทำงานยากๆ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ขาดความสะดวกสะบาย และยินดีที่จะเผชิญหน้ากับคนที่รับมือด้วยยาก  ในระยะยาว คนกลุ่มนี้จะได้รับรางวัลเป็นความสามารถที่เพิ่มมากขึ้น
  • จะทำงานหนักไปทำไม  หลายๆคนเชื่อว่าการทำงานอย่างฉลาดนั้นดี และการทำงานหนักเป็นเรื่องโง่  คนฉลาดที่แท้จริงจะทำงานหนักเพราะหลงใหลในสิ่งที่ตนทำและเห็นคุณค่า และความหมายในสิ่งทีทำ ทำให้ในความคิดของพวกเขา ไม่ได้มองว่าตนเองกำลังทำงานหนัก และยังสนุกกับสิ่งที่ทำอีกด้วย  พวกเขามักไม่ได้ทำงานเพื่อเงิน และทำเพื่อสร้างความหมายและทำโลกนี้ให้ดีกว่าเดิม  ตัวอย่างที่ยิ่งใหญ่ก็คือ ในหลวงของพวกเรา  ทำไมท่านจึงต้องทำงานหนักด้วย ท่านไม่ได้ต้องการตำแหน่งที่ใหญ่โตไปกว่านี้ ท่านไม่ได้ทำเพื่อเงินที่มากขึ้น หรือชื่อเสียงที่โด่งดังมากขึ้นไปอีก แต่พระองค์ทำเพราะความรักและความเป็นห่วงในพสกนิกรของท่านต่างหาก
  • การมาตรงต่อเวลาไม่ดีตรงไหน ถ้าคุณต้องนำเสนองานที่มีความสำคัญอย่างสูงต่อเจ้านายเวลาเก้าโมงเช้า คุณก็ไม่ควรไปถึงที่ประชุมตอนเก้าโมง เพราะอาจมีสิ่งไม่คาดฝันต่างๆเกิดขึ้น  เราควรไปก่อนเวลาเพื่อเตรียมตัว  เมื่อเรามีความหลงใหลในสิ่งที่ทำแล้วล่ะก็เราจะทำงานต่างๆด้วยใจ  จึงเป็นการดีกว่าที่จะไปที่ไหนก็ตามก่อนเวลา  ดังเช่นกฏของเมอร์ฟี่ที่ว่าใว้ “ถ้ามีอะไรบางสิ่งที่สามารถผิดเพี้ยนไปได้ล่ะก็ มันจะเกิดขึ้น”  หรือ “If anything can go wrong, it will”
  • อย่าวางแผนใดโดยไม่มีแผนสำรอง หรือแผนบี คนเก่งๆมีควมสามารถรู้ดีว่าแม้มีแผนบีก็อาจยังไม่พอ ควรต้องมีแผนซีด้วย เพราะความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นรวดเร็วกว่าประสบการณ์ที่ผ่านๆมา  เราจึงต้องมีแผนสำรองที่หลากหลายและมีแนวคิดที่ยืดหยุ่น  เพื่อจะได้วิเคราะห์สถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงและปรับเปลี่ยนแผนที่วางไว้ตามความจำเป็น
  • แม้กระบวนการทำงานนั้นจะยังทำงานได้ ก็ควรมองหาว่าปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นคืออะไร หรือสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างไรได้บ้าง  เมื่อใดก็ตามที่เราพึงพอใจกับสถานะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน บริษัทอื่น หรือคู่แข่งของเราก็จะพยายามปรับปรุงทำให้ดีกว่าที่เราเป็นอยู่
  • ข้อสุดท้ายนี้มาจากโค้ชของผม ดร. เดวิด บินเนี่ยน “ปัญหาใดๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา เราเป็นต้นตอของปัญหา เราจึงต้องรับผิดชอบด้วยการแก้ไขมันเสีย”  หากเรามีทัศนคติแบบนี้เราก็จะมีความเป้นเจ้าของปัญหานั้นๆและแก้ปัญหานั้นเสีย

สุดท้ายขอจบด้วยคำคมของโสคราตีส ว่า “การดำเนินชีวิตโดยไม่คิดใคร่ครวญ เป็นการกระทำที่ไร้คุณค่า”   ขอให้เราลองทบทวนใคร่ครวญดูนะครับ