คำตอบชั้นดีจากคำถามชั้นเลิศ

“คุณเกรียงศักดิ์  องค์กรผมมีโครงการพัฒนาภาวะผู้นำ ซึ่งผมต้องโค้ชผู้จัดการอาวุโสสามท่านเกี่ยวกับทักษะต่างๆในการบริหาร ช่วยสอนวิธีที่ผมจะสามารถใช้ในการโค้ชพวกเข้าหน่อยได้ไหมครับ”

“คุณอยากให้ผมโค้ชคุณอย่างไรดีครับ”

“ช่วยสอนผมเกี่ยวกับการโค้ชโดยการใช้คำถามเพื่อช่วยให้คิด”

“สอนโดยการพูดให้คุณฟังนั้นไม่ยากหรอกครับ แต่ว่าคุณคิดว่าน่าจะมีวิธีใดอีก  มีประสิทธิภาพในการพัฒนาทักษะการโค้ชมากกว่าการบอกครับ”

“การถามใช่ไหมครับ”

“เป็นไปได้ครับ มีอะไรอีกครับ”

“ไม่ทราบสิครับ”

“ตอนหัดขับรถ คุณทำอย่างไรครับ”

“ก็ลองขับเลยครับ อ้อ…ผมก็สามารถที่จะเรียนรู้การโค้ชผ่านการลองฝึกโค้ชเลยก็ได้”

“คุณคิดจะฝึกอย่างไรครับ”

“ผมจะฝึกกับโค้ช โดยให้ตัวเองเป็นโค้ช แล้วคุณเป็นโค้ชชี่”

“ดีครับ เรามาเริ่มกันเลย ผมขอเสนอเรื่องที่คุณไม่มีความคุ้นเคย เช่นการเขียนคอลัมน์ลงหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ครับ”

“ทำไมจึงต้องการได้รับการโค้ชเกี่ยวกับเรื่องนี้ครับ”

“คุณคิดว่าเพราะอะไร”

“เพราะผมไม่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะทำให้ผมมุ่งความสนใจไปที่การช่วยให้คุณคิดมากกว่าพยายามหาทางออกให้  เริ่มเลยนะครับ”

“คุณนิด ผมอยากให้คุณช่วยโค้ชผมในการเขียนคอลัมน์ Bridging the Gap ครับ”

เขาพยักหน้าแล้วถาม “ปัญหาของคุณในขณะนี้คืออะไรครับ”

“ผมมีไอเดียเยอะมากเกินไปในแต่ละสัปดาห์”

“คุณมีเรื่องอะไรที่คิดเอาใว้แล้วบ้างครับ”

“มีสี่ไอเดียครับ คือ โค้ชชิ่ง การทำงานข้ามวัฒนธรรม ภาวะผู้นำ และการสื่อสาร คุณคิดว่าผมควรเขียนเรื่องใหนดีครับ”

“ผมว่าคุณน่าจะเขียนเรื่องการโค้ชชิ่งนะครับ”

ผมพยักหน้าและหยุดสักพัก

ผมไม่เห็นด้วย “คิดอีกที ผมอยากเขียนเกี่ยวกับการบริหารงานต่างวัฒนธรรมมากกว่าครับ เพราะตอนนี้เรื่อ AEC กำลังเป็นกระแส น่าจะมีคนสนใจอ่านมากกว่า”

“แต่ผมคิดว่าเรื่องการโค้ชชิ่งน่าดึงดูดใจมากกว่าเพราะ…”

ผมส่งสัญญาณมือขอเวลานอก

คุณนิดสงสัย  “ทำไมหรือครับ”

“เราหยุดซักพักนะครับ ผมต้องการให้ข้อมูลย้อนกลับครับ เมื่อสักครู่ คุณเพิ่งบอกว่าผมควรหรือไม่ควรทำอะไร  เราตกลงกันว่าคุณจะฝึกการโค้ชโดยการใช้คำถามจนกว่าผมจะหาคำตอบให้ตนเองได้นี่ครับ”

“อืม..เข้าใจแล้วครับ”

“เหตุการณ์แบบนี้เรียกว่า กับดักความเป็นผู้เชี่ยวชาญ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราถูกถามว่า “คุณคิดอย่างไร” เรามักจะให้ความคิดเห็นของเราที่มีออกไปเสมอ  เพราะว่าการให้ความเห็นเป็นสิ่งที่ผู้นำคุ้นเคย  แบบที่เรียกว่า Autopilot  แต่ในกระบวนการโค้ชนั้นไม่ควรทำ  คุณคิดว่าจะเลี่ยงการให้ความคิดเห็นได้อย่างไรครับ”

“ผมต้องอยู่กับปัจจุบัน และมุ่งความสนใจไปที่กระบวนการให้มากขึ้น เลี่ยงการใช้ autopilot เช่น กับดักความเป็นผู้เชี่ยวชาญ  กระตระหนักรู้เป็นหัวใจสำคัญทีเดียว”

แล้วเราก็ลองซ้อมกับเป็นครั้งที่สอง ครั้งนี้คุณนิดสามารถมุ่งความสนใจไปที่การถามคำถามได้มาก ทำให้ผมสามารถหาทางออกให้ตนเองได้สำเร็จ

“คุณนิด เรามาลองซ้อมรอบที่สามกันนะครับ รอบนี้อาจเป็นเรื่องที่ยากที่สุดสำหรับคุณ เพราะคุณเองออกกำลังกายถึงห้าครั้งต่อสัปดาห์  เรื่องที่ผมอยากให้คุณโค้ชคือ ผมต้องการออกกำลังกายสัปดาห์ละสี่ครั้ง คุณเองก็เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ ระวังกับดักนะครับ ทำได้มั๊ยครับ”

“แน่นอนครับโค้ช  เริ่มเลยนะครับ  ขณะนี้คุณออกกำลังกายอย่างไร บ่อยแค่ใหนครับ”

“ออกบ้างไม่ออกบ้างครับ บางสัปดาห์สองครั้ง บางสัปดาห์ไม่ทำเลย บางสัปดาห์ห้าครั้ง  ส่วนตัวผมเองอยากออกกำลังกายสี่ครั้งต่อสัปดาห์เป็นประจำครับ”

“แล้วทำไมจึงไม่ทำล่ะครับ”

“ขี้เกียจครับ”

คุณนิดเงียบไปสักพัก  เขาไม่รู้ว่าจะรับมือกับคำตอบแบบนี้อย่างไร

ทว่าเขามีความตระหนักรู้ที่ดีมาก จึงตั้งตัวได้และเริ่มถามต่อ

“คุณลองนึกถึงประสบการณ์อื่นๆที่มีลักษณะคล้ายๆกันซิครับ ประเภทที่ต้องพยายามอย่างมากในช่วงแรกๆ  แทบว่าจะเลิกทำอยู่แล้ว แต่พอทำไปเรื่อยๆก็สามารถก้าวข้ามปัญหานั้นมาได้”

“ก็มีหลายเหตุการณ์อยู่นะครับ แต่คำถามของคุณทำให้ผมนึกถึงตอนที่เริ่มเขียนคอลัมน์ใหม่ๆ ผมเขียนมาแล้ว 12 ปี ในปีแรกๆ บางสัปดาห์ผมวางโครงเรื่องไม่ได้เลย จนนาทีสุดท้ายก่อนจะส่งงานถึงจะเขียนออก”

“คุณทำอย่างไรถึงได้ก้าวข้ามอุปสรรค์นั้นมาได้ครับ”

“แรงจูงใจในการเขียนของผมมาจากผู้อ่าน เพราะผมมักได้รับอีเมล์ขอบคุณ ชื่นชมจากพวกเขาถ้าคอลัมน์นั้นสามารถช่วยพวกเขาได้”

“คุณจะใช้แรงจูงใจเดียวกันนี้มาใช้กับเรื่องการออกกำลังกายได้อย่างไรครับ”

“คำถามนี้เป็นคำถามที่ดีมากๆๆ ครับ ผมไม่เคยมองเรื่องออกกำลังกายในแง่มุมนี้มาก่อนเลย

ผมควรออกกำลังกายเพราะมันให้ผลที่ยิ่งใหญ่ ถ้าผมออกกำลังกายเป็นประจำ ผมก็จะมีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้น ทำให้ผมมีเวลาที่จะทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น ได้ยาวนานมากขึ้น”

ขณะที่ผมพูด ผมก็ขนลุกไปด้วย และขอเวลานอกเพื่อจดไอเดียนี้ลงในสมุด

คุณนิดประทับใจกับปฏิกิริยาตอบสนองของผมอย่างมาก ถึงกับพูดออกมาว่า “ว๊าว นี่เป็นตัวอย่างที่เยี่ยมยอดว่า การถามคำถามชั้นเลิศนั้นทำให้ได้มาซึ่งคำตอบดีๆได้อย่างไร”