โค้ชเบบี้บูมเมอร์ให้ทำงานร่วมกับเจนวาย

“โค้ชเกรียงศักดิ์คะ ดิฉันชอบบทความเรื่อง “โค้ช เจนวาย ให้ทำงานร่วมกับ เบบี้บูมเมอร์” และเวียนต่อให้พนักงานทุกคนในองค์กร โค้ชช่วยโค้ชให้ดิฉันสามารถทำงานร่วมกับเจนวายบ้างได้ใหมคะ”

“ได้สิครับคุณสมพร คุณช่วยเล่าสถานการณ์ปัจจุบันให้ผมฟังหน่อยครับ”

“ดิฉันมีลูกน้องโดยตรงสิบคน โดยที่เจ็ดคนนั้นอยู่ในวัยเดียวกัน ทำงานร่วมกันได้เป็นปกติ แต่อีกสามคนเป็นเจนวายที่รับผิดชอบงานด้านการตลาดและสื่อออนไลน์ หรือ Social Media Marketing พวกเขาฉลาด ว่องไว และใช้เทคโนโลยีเก่งมาก แต่โดยส่วนตัวดิฉันคิดว่าพวกเขาไม่ค่อยมีมารยาทค่ะ”

“ช่วยขยายความหน่อยครับ”

“ตัวอย่างก็คือ พวกเขาไม่รับฟังดิฉันเลยว่าควรทำสิ่งต่างๆอย่างไร  เมื่อพวกเขาทราบเป้าหมายที่ชัดเจนแล้วก็จะรีบทำงานนั้นในสไตล์ของตนเองทันที  ในขณะที่ดิฉันโค้ชพวกเขา ก็มักจะมีมุมมองที่แตกต่างอยู่เสมอ ไม่เห็นด้วยในเรื่องต่างๆ บางครั้งดิฉันรู้สึกเหนื่อยหน่ายมากเพราะรู้สึกว่าพวกเขามีอัตตาที่สูงเหลือเกิน

อีกประเด็นคือเรื่อง ความรู้สึกขอบคุณหรือสำนึกในบุญคุณ พวกเขามักมีไอเดียใหม่ๆ ที่ต้องการเงินลงทุนก้อนใหญ่ ทำให้ดิฉันต้องใช้ความพยายามอย่างสูงเพื่อขายไอเดียนี้กับบอร์ด แต่เมื่อได้รับทุนก้อนนี้มา พวกเขาก็ไม่ได้มากล่าวขอบคุณอะไรเลย  ต่างกับสมัยดิฉัน ที่เมื่อนายต้องพยายามในเรื่องใดเป็นพิเศษเพื่อเราก็จะตามขอบคุณกันไม่จบสิ้น  เด็กสมัยนี้ดูจะมองข้ามเรื่องนี้ไป ไม่เห็นถึงคุณค่าในสิ่งที่เราทำให้”

“คุณสมพร คุณลองพูดซ้ำสองสามประโยคสุดท้ายของตนเองสิครับ”

“ประโยคใหนคะโค้ช”

“ประโยคที่ขึ้นต้นว่า  สมัยดิฉัน…”

“อ้อ  การเปรียบเทียบกับสมัยที่ดิฉันเริ่มทำงาน … อ้อ …” คุณสมพรเข้าถึงยูเรก้า

“อ้อ อะไรหรือครับ”

“โค้ช ดิฉันใช้ค่านิยม และมาตราฐานของตนเองตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อนมาตัดสินเจนวาย ดิฉันไม่ควรทำแบบนี้ใช่ไหมคะ?”

“ถูกต้องครับ”

“แล้วดิฉันควรทำอย่างไรดีคะ”

“ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจเรื่องช่องว่างระหว่างแต่ละช่วงวัยกัน  ตัวอย่างที่คุณเล่ามาบอกให้ทราบถึงค่านิยมและความเชื่อว่าควรปฏิบัติตนอย่างไรกับเจ้านาย  คุณช่วยสรุปค่านิยมต่างๆที่คุณมีเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกรอบสิครับ”

“ให้เกียรติรุ่นพี่ อำนวยความสะดวกให้นาย  และสำนึกในบุญคุณค่ะ”

“ดีครับๆ”

“คุณสมพรครับ  ผมจำเนื้อหาจากหนังสือชื่อ High Performance Collaboration: The 10 Natural Lawsโดย Mickey Connolly และ Richard Rianshek ทั้งสองพูดถึงคำจำกัดความของคำว่า Intelligent มีรากศัพท์หมายความว่า “เลือกระหว่าง” ทั้งสองขยายความว่า การฟังอย่าง Intelligent หมายถึง ความสามารถที่จะเห็นมากกว่าหนึ่งมุมมองแล้วเลือกใช้มุมมองที่อธิบายถึงพฤติกรรมของผู้พูดได้ดีที่สุด

ในกรณีนี้ คุณพอจะมองออกไหมว่าเพราะอะไรเจนวายจึงประพฤติตนในแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้”

“พวกเขาอาจคิดว่า วิธีการทำงานของดิฉันอาจไม่เวิร์คแล้วในวันนี้ หรือ เราทุกคนมีวิธีการทำงานที่ต่างกันไป วิธีของพวกเขาและดิฉันอาจต่างกันออกไปแต่ก็ได้ผลลัพธ์ที่เหมือนกัน

พวกเขาแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วย เพราะคาดหวังว่าดิฉันจะเปิดใจยอมรับความคิดเห็นเหล่านั้น

สุดท้าย พวกเขามองว่าการของบประมาณต่างๆนั้นเป็นหน้าที่ของดิฉันอยู่แล้ว จึงไม่ได้มีอะไรติดค้างต่อกัน จึงไม่จำเป็นต้องแสดงความขอบอกขอบใจหรือเปล่าคะ”

“การวิเคราะห์ของคุณสมเหตุสมผลมากครับ”

“ขอบคุณค่ะโค้ช  ถ้าเช่นนั้น นี่ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ดิฉันไม่ควรเก็บมาคิดและพยายามยัดเยียดค่านิยมของตนเองให้พวกเขาปฏิบัติ”

“แล้วคุณจะทำอย่างไรต่อไปครับ”

“ดิฉันจะเตือนตนเองทุกครั้งที่เจอพวกเขาค่ะ”

“ดีครับ แต่ค่านิยมที่คุณมีนั้น ติดตัวคุณมานานยี่สิบกว่าปีเป็นไปได้ยากที่คุณจะระงับได้ตลอดเวลา ในช่วงเหตุการณ์ปกติคุณอาจทำได้ แต่เมื่อมีเรื่องที่ทำให้โกรธหรือหงุดหงิด คุณก็อาจเข้าสู่ autopilot หรือ ความคุ้นเคยของคุณ แล้วกลับไปใช้ค่านิมและความเชื่อเดิมๆ”

“แล้วดิฉันควรทำอย่างไรดีคะ”

“ลองใช้เทคนิคเหล่านี้เพื่อช่วยให้คุณอยู่กับปัจจุบันมากขึ้นดูครับ

  1. Eckhart Tolle เขียนหนังสือชื่อ Practicing the Power of Now กล่าวไว้ว่า เมื่อคุณรู้สึกตนว่าไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน แสดงว่าคุณกำลังอยู่กับปัจจุบัน  ผมจึงพยายามเตือนตนเองในขณะฟังผู้อื่นโดยถามตนเองว่า “ตอนนี้ความคิดเราอยู่ที่ไหน อดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต” ให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
  2. ก่อนที่จะร่วมงานกับผู้ที่มีค่านิยมต่างจากเรา ผมจินตนาการว่ามีกล้องวิดิโอติดตามถ่ายทำผมอยู่  จากนั้นจึงถามตนเองว่า ผมกำลังทำหน้าตาท่าทางอย่างไร การทำเช่นนี้ทำให้ผมอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น
  3. คำตอบของ Rege Ludwig ผู้ฝึกสอนโปโลระดับโลก ผมเคยถามเขาว่าทำไมเขาจึงฟังเก่งมาก  คำตอบจากเขาคือ ผมฟังอย่างตั้งใจเสมอเพราะมีอะไรมากมายที่ผมยังไม่รู้”