โค้ชท่านประธาน

“คุณเกรียงศักดิ์ ผมเป็นประธานบอร์ดของบริษัทหนึ่งที่ประกอบไปด้วยกรรมการที่เป็นผู้บริหารหกท่านและกรรมการอิสระสองท่าน  ผมคิดว่าตนเองน่าจะสามารถทำหน้าที่ประธานที่ดีกว่านี้ได้ครับ”

“ผมจะช่วยคุณได้อย่างไรบ้างครับคุณภิวัฒน์”

“ผมอ่านหนังสือ Chairing the Board โดย John Harper ผู้เขียนพูดไว้ว่า ประธานบอร์ดที่ทันสมัยนั้นต้องทำหน้าที่เป็นโค้ชด้วย เพื่อช่วยให้กรรมการท่านอื่นๆนั้นมีความรู้ ความสามารถ และมีประสิทธิภาพสูงในฐานะกรรมการ

สัปดาห์หน้าจะมีการประชุมบอร์ดประจำเดือน ผมจะบันทึกเทปไว้เพื่อดูว่าตนเองดำเนินการประชุมอย่างไรบ้าง เพื่อเราจะได้มาวิเคราะห์ร่วมกัน จากนั้นผมอยากได้รับการโค้ชเพื่อเป็นโค้ชที่ดีในการประชุมบอร์ดครับ”

สัปดาห์ถัดมา เรานั่งดูและวิเคราะห์เทปการประชุมเป็นเวลาสองชั่วโมง

เมื่อดูจบ ผมจึงถามว่า “คุณคิดว่าตนเองทำอะไรได้ดีในฐานะประธานบอร์ดที่ทันสมัย”

“ผมบริหารเวลาได้ดี เริ่มและจบตรงเวลา เนื้อหาการประชุมเป็นไปตามที่กำหนดไว้  ได้ทำการตัดสินใจในเรื่องสำคัญต่างๆที่วางแผนไว้ แล้วยังมีเวลาเหลือพอที่จะให้กรรมการแต่ละท่านแชร์ประสบการณ์และมุมมอง”

“มีอะไรบ้างที่สามารถทำได้ดีกว่านี้ครับ”

“คราวหน้า ผมจะเริ่มการประชุมด้วยการคุยเรื่องสารทุกสุขดิบสักสองสามนาทีก่อนเพื่อทำให้ทุกๆคนผ่อนคลายมากขึ้น

ผมต้องการให้กำลังใจคุณสยาม ที่เป็นกรรมการอิสระ ให้แสดงออกและพูดมากขึ้น เขาเป็นคนฉลาดมากแต่มักนิ่งเงียบในการประชุม เขาสามารถที่จะให้ประโยชน์กับที่ประชุมมากกว่านี้  ผมควรทำอย่างไรดีครับ”

“คุณต้องการทำอะไรครับ”

“ทำให้คุณสยามมีส่วนร่วมมากขึ้นครับ”

“เพราะอะไรเขาถึงยังไม่มีส่วนร่วมมากพอครับ  เจ้าตัวไม่ทราบหรือครับว่าตนควรเป็นผู้ให้ในที่ประชุมมากกว่านี้”

“ผมคิดว่าเจ้าตัวคงไม่ทราบครับ”

“คุณคิดว่าควรทำอย่างไรเพื่อให้คุณสยามตระหนักและเข้าใจเรื่องนี้ครับ”

“ผมควรให้ข้อมูลย้อนกลับที่ตรงไปตรงมาครับ”

“โอเคครับ  แล้วเป็นไปได้มั๊ยครับที่หลังจากคุณให้ข้อมูลย้อนกลับแล้วแต่เขาก็ยังคงเป็นเหมือนเดิม”

“เป็นไปได้อย่างสูงเลยครับ”

“อะไรทำให้คุณมั่นใจขนาดนี้ครับ”

“เพราะผมอาจไม่ได้พูดถึงประเด็นที่ต้องการจริงๆ ว่าทำไมเขาจึงไม่แสดงออกมากอย่างที่ผมคาดหวังใว้”

“อะไรน่าจะเป็นต้นตอของปัญหานี้ครับ”

“ผมเชิญคุณสยามมาร่วมในบอร์ดนี้เพราะเขาเป็นกรรมการให้แก่บริษัทลูกของเราด้วย ในการประชุมครั้งนั้นเขาแสดงออก แสดงความคิดเห็น แชร์ไอเดียในเชิงวิพากย์มากมายเลยครับ”

“ความแตกต่างของบอร์ดของบริษัทลูกและบอร์ดของคุณต่างกันอย่างไรครับ”

คุณภิวัฒน์หยุดคิดสักพัก แล้วจึงพูดออกมาว่า  “ในการประชุมที่บริษัทลูก เราสองคนเป็นกรรมการด้วยกันทั้งคู่ แต่ที่บอร์ดนี้ผมเป็นประธาน นี่อาจเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดช่องว่างครับ”

“คิณคิดว่าอะไรคือต้นเหตุของปัญหาครับ”

“อย่างแรก คือ ความเกรงใจครับ”

“มีอะไรอีกครับ”

“อาจเป็นเพราะบรรทัดฐานของบอร์ดนี้ครับ”

“ขยายความหน่อยครับ”

“ในการประชุมครั้งแรก ผมกำหนดกฏต่างๆเพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานในการประชุม กฏข้อหนึ่งพูดถึงการโต้แย้งในที่ประชุม ว่าผมจะไม่รับฟังการโต้แย้งต่างๆที่ไม่มีข้อมูลสนับสนุน  เพราะการตัดสินใจของบอร์ดจะต้องมาเหตุผลมารองรับเสมอ  จึงไม่ต้องการให้ใช้สัญชาตญาณ หรือความรู้สึกในการตัดสินใจเรื่องต่างๆในที่ประชุมบอร์ด”

“และอย่างไรอีกครับ”  ผมยังคงรับฟังโดยไม่ตัดสินสิ่งที่คุณภิวัฒน์พูด

“และ  ผมคิดว่ากฏพวกนี้ช่างเป็นสิ่งที่โง่จริงๆ มันบั่นทอนทำให้กรรมการไม่ต้องการแชร์มุมมอง และความคิดเห็นที่มีค่าต่างๆ  เป็นกฏที่ไม่สมเหตุสมผลเลยครับ”

“คุณภิวัฒน์ คุณคิดว่าในการประชุมครั้งหน้า คุณจะทำอะไรแตกต่างไปจากเดิมบ้างครับ”

“ผมจะใช้เวลาห้านาทีแรกพูดคุยเรื่อทั่วไปกับกรรมการทุกท่านเพื่อให้เกิดความเป็นกันเอง  จากนั้นแจ้งให้ทุกท่านทราบว่าผมต้องการปรับบรรทัดฐานในการประชุมให้ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะข้อที่เป็นตัวบั่นทอนการแสดงออกของพวกเขา  เพราะมุมมองและความคิดเห็นนั้นอาจไม่มีข้อมูลมาสนับสนุนในบางครั้ง  ผมจึงควรที่จะเปิดรับความคิดเห็นของพวกเขาไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม”

“เยี่ยมเลยครับ”

“โค้ชครับ ผมอยากเป็นผู้ฟังที่ดีอย่างโค้ชบ้าง  ผมควรทำอย่างไรครับ”

“คุณคิดว่าผมทำอะไรได้ดีครับ”

“โค้ชฟังเงียบๆ แม้บางสิ่งที่ผมพูดออกไปสมควรได้รับการท้าทาย แต่โค้ชก็ไม่ได้ทำครับ”

“ทำไมผมจึงต้องท้าทายคำพูด หรือการกระทำของคุณครับ”

“เพื่อชนะการสนทนาครั้งนั้นๆไงครับ”

“เพื่ออะไรครับ”

“เพื่อแสดงให้เห็นว่าคุณฉลาดกว่าผมครับ”

“ผมจะได้ประโยชน์อะไรจากการกระทำเช่นนั้นครับ”

ภิวัฒน์เงียบไปสักพัก  “อ๋อ นี่คือการฟังอย่างไม่ตัดสินผู้พูด ผมไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ชนะในการสนทนาเสมอไป ผมไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ตนเองว่าฉลาดกว่าผู้อื่น  สิ่งที่ผมต้องการจากคู่สนทนาคือให้เขาเปิดใจพูดมากขึ้นต่างหาก”