คำถามเปลี่ยนชีวิตผู้จัดการ

ผู้จัดการมีหน้าที่หลัก ๆ คือ จัดการแก้ปัญหาในงาน และบริหารงานภาพใหญ่

แต่ชีวิตจริงเป็นอย่างไร

เราจะเห็นผจก.สามกลุ่ม

ก. กลุ่มแรก เป็นผู้จัดการที่แก้ปัญหาในงาน และ มีเวลาบริหารงานภาพใหญ่พอสมควร

ข. กลุ่มที่สอง ยุ่งกับการแก้ปัญหาในงานมากเกินควร แต่พอมีเวลาบ้างในการบริหารภาพใหญ่ 

ค. กลุ่มที่สาม ยุ่งกับการแก้ปัญหาในงานมากไป และแทบไม่มีเวลาบริหารภาพใหญ่

จากประสบการณ์ ผจก.ส่วนใหญ่ มักจะอยู่ในกลุ่ม ข.และค.

จึงเป็นเรื่องปกติที่เราเห็นผจก.ส่วนใหญ่ยุ่งมากถึงยุ่งที่สุด

ทางแก้ไขคืออะไร

1. เข้าใจหลักการ

2. เก็บข้อมูล

3. ปรับเปลี่ยนแก้ไข

4. ติดตามผล

1. เข้าใจหลักการ

หลักการบริหาร ผู้จัดการมีหน้าที่จัดการงานให้สำเร็จผ่านคนอื่น 

ซึ่งหมายความว่าต้องสามารถจัดการทรัพยากรให้เหมาะสม

ในการแก้ปัญหาในงาน และบริหารงานในภาพใหญ่ได้

ดังนั้นจึงต้องมีดุลพินิจที่ดีว่าต้องใช้เวลากับแต่ละเรื่องอย่างไรก่อน

2. เก็บข้อมูล

หลังจากนั้น ให้ลองลงมือเก็บข้อมูล

โดยอาจจะตรวจสอบดูในแต่ละสัปดาห์ว่า

a. มีงานไหนบ้าง ที่เราคิดว่าเราไม่ควรเป็นคนทำ

b. มีงานไหนบ้าง ที่เป็นการแก้ปัญหา เพราะคนของเราเป็นสาเหตุ

c. มีงานไหนบ้าง ที่เป็นการแก้ปัญหา เพราะเราเป็นสาเหตุ

3. ปรับเปลี่ยนแก้ไข

เมื่อได้ข้อมูลแล้ว ลองมาเปรียบเทียบ

ดูว่าข้อเท็จจริงต่างกับหลักการเพียงใด

แล้วลงมือปรับปรุงแก้ไข

4. ติดตามผล

หลังจากนั้นก็ติดตามผล

ควรประเมินตัวเองทุก ๆ 6 หรือ 12 เดือนครับ

ตัวอย่าง

สว่างได้รับการโปรโมทจากผจก.ฝ่ายขายขึ้นเป็นผจก.ทั่วไป 

โดยมีปรียาที่เดิมเคยเป็นผช.ผจก.ฝ่ายขาย ขึ้นเป็นผจก.ฝ่ายขายแทนเขา

สามเดือนแรกที่เขาได้รับตำแหน่ง เขามาทำงาน 7:00 น.กลับ 20:00 น.ทุกวัน 

แถมเสาร์/อาทิตย์ ยังต้องหอบงานกลับไปทำที่บ้านอีก

หลังจากลองถามสามคำถามนี้ สว่างพบว่า

a. มีงานไหนบ้าง ที่เราคิดว่าเราไม่ควรเป็นคนทำ

เขาเข้าร่วมประชุมรายสัปดาห์ของฝ่ายขายมาตลอด 3 เดือนที่ได้รับตำแหน่งใหม่

ที่จริงแล้ว หลังจากสังเกตปรียานำประชุมใน 3 สัปดาห์แรก

เขาก็พบว่าปรียาทำได้ดีแล้ว แต่เขาก็ยังเข้าร่วมประชุมอยู่ 

จากคำถามนี้ เขาจึงงดการเข้าประชุมนี้ 

และได้เวลาเพิ่มขึ้นมา 3 ชม./สัปดาห์ หรือ 12 ชม./เดือน

b. มีงานไหนบ้าง ที่เป็นการแก้ปัญหา เพราะคนของเราเป็นสาเหตุ

เขาไม่พบคำตอบอะไร

c. มีงานไหนบ้าง ที่เป็นการแก้ปัญหา เพราะเราเป็นสาเหตุ

เขาพบว่า งานที่เขามอบหมายให้เลขาทำสไลด์นำเสนอมักไม่ถูกใจ

แต่เป็นเรื่องของสไตล์มากกว่า เพราะข้อมูลก็ครบถ้วนดี

ประกอบกับเขาเป็นคนที่ชอบทำสไลด์มาก

ดังนั้น หากเขาไม่ติดใจเรื่องสไตล์แล้ว

งานนี้เขาก็สามารถปล่อยให้เลขาทำได้เลย

ซึ่งทำให้เขาได้เวลาเพิ่มอย่างน้อย สัปดาห์ละ 1 ชม. หรือเดือนละ 4 ชม.

จากคำถามชุดนี้ เขาได้เวลาเพิ่มขึ้นเดือนละ 16 ชม.มาทันที

เดือนต่อไป เขาก็เริ่มกลับบ้านได้เร็วขึ้น และไม่ต้องนำงานกลับไปทำบ้าน

คุณละครับ จะลองนำแนวทางนี้ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไรบ้างครับ