ถ้าคุณเป็นหัวหน้าของ Knowledge Worker หรือคนทำงานฐานความรู้
(คือพนักงานที่ทำงานโดยใช้ข้อมูลเป็นฐาน และประกอบการใช้ดุลพินิจในการทำงาน)
การสร้างความผูกพันในการทำงาน (Employee Engagement) สำคัญมาก มิฉะนั้นแล้วคนกลุ่มนี้ที่มีศักยภาพสูงมักจะลาออกเร็วกว่าที่ควร
ไม่ว่าหน่วยงานคุณจะเล็กหรือใหญ่ หากคุณเป็นระดับหัวหน้าทีมแล้ว เมื่อมีคนใหม่มาแม้เพียงคนเดียวก็ตาม หากคุณต้องการให้เขาใช้ศักยภาพให้เต็มที่คุณมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อเขาดังนี้
- แนะนำวัฒนธรรมองค์กรและการวางตัว
บอกเขาไปตั้งแต่วันแรกว่า: ทีมงานของเราทำงานกันอย่างไร/การอยู่ร่วมกันเป็นอย่างไร/การแสดงความคิดเห็นทำอย่างไร/การจัดการความขัดแย้งทำอย่างไร/จะประสบความสำเร็จที่นี่ต้องทำตัวอย่างไร หากสามารถแนะนำพี่เลี้ยงให้ช่วยดูแลเขาในเดือนแรกก็จะดีใหญ่
พี่เลี้ยงจะทำหน้าที่แนะนำว่า การเบิก Stationaries ทำอย่างไร/อาหารกลางวันทานที่ไหน/วันแรกหากเป็นไปได้ชวนเขาไปกินข้าวเที่ยงด้วย/พาแนะนำตัวเพื่อน ๆ ในทีมงาน/และเรื่องสัพเพเหระในการใช้ชีวิตในที่ทำงาน
- แนะนำบทบาทหน้าที่/ความรับผิดชอบ
หัวหน้าควรเล่าให้ฟังว่า ทีมงานนี้มีวิสัยทัศน์อย่างไร/มีพันธกิจหลักอะไร/มียุทธศาสตร์อย่างไรให้ไปถึงวิสัยทัศน์/และมีค่านิยมร่วมในการอยู่ร่วมกันอย่างไรเพื่อให้สอดคล้อง “วิสัยทัศน์-พันธกิจ-ยุทธศาสตร์” ของทีม
หลังจากนี้ หัวหน้าควรบอกบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของหัวหน้าและของสมาชิกใหม่ อะไรที่ทำได้/อะไรที่ทำไม่ได้/หากมีคำถามเรื่องไหนควรปรึกษาใคร
- สอนความรู้/ทักษะให้เริ่มทำงานได้
หัวหน้าควรสอนความรู้และทักษะให้เขาก่อน เพื่อให้เขาเริ่มทำงานได้ อย่าบอกให้ไปคิดเองเพราะว่าเขาควรเริ่มทำงานภายในกรอบเสียก่อนจึงค่อยไปคิดนอกกรอบในอนาคต
ในการสอน ควรลองให้เขาให้เขาฝึกปฎิบัติภายใต้การสอน เพื่อจะได้ให้ Real timer feedback ช่วยให้เขาเรียนรู้เร็วยิ่งขึ้น
- สอนการใช้ดุลพินิจ
เมื่อเขาเริ่มทำงาน Routine ได้แล้วจากนั้นก็เริ่มสอนการใช้ดุลพินิจ งานของ Knowledge Worker ส่วนใหญ่มักมีงานที่เขาต้องใช้ความคิดและดุลพินิจบ้าง ในระดับเริ่มต้นการใช้ดุลพินิจมักมีไม่มาก และ 80% ของดุลพินิจเป็นสิ่งที่มีบรรทัดฐานในอดีตอยู่แล้ว หัวหน้าควรสอนการใช้ดุลพินิจเบื้องต้นให้เขา
เมื่อสังเกตการใช้ดุลพินิจของเขาดีพอสมควร ก็ควร Feedback เขาเป็นระยะด้วย เพื่อให้เขามั่นใจและค่อย ๆ พัฒนการใช้ดุลพินิจเบื้องต้นได้ดียิ่งขึ้น
- ใช้คำถามชวนคิดการใช้ดุลพินิจ
เมื่อเราเห็นว่าเขามีศักยภาพพอที่จะฝึกใช้ดุลพินิจของตนเองให้ดียิ่งขึ้น บอกเขาว่าเราต้องการพัฒนาการใช้ดุลพินิจของเขาให้ดียิ่งขึ้น โดยเราจะใช้คำถามชวนคิดเพื่อให้เขาฝึกคิด เมื่อเขาฝึกคิดออกมาเราก็ควรให้ Feedback เพื่อให้เขาพัฒนาได้ดียิ่งขึ้น - มอบหมายงานที่ท้าทายมากขึ้น
เมื่อเราใช้คำถามชวนคิดเขาจนเขาพัฒนาดุลพินิจได้ดีขึ้นมาก ลำดับต่อไปก็ลองมอบหมายงานที่ท้าทายมากขึ้น
คอยเฝ้าดู และให้ Feedback เป็นระยะ - ฝึกให้นำโครงการเล็ก
เมื่อเห็นว่าเขาทำงานที่ท้าทายได้ดี ก็ลองให้เขารับผิดชอบงานโครงการขนาดที่ไม่ใหญ่เกินไป ในตอนนี้เราอาจจะปล่อยให้เขามีอิสระมากขึ้นไปอีก อย่าลืมให้ Feedback เป็นระยะ - มอบหมายให้ทำโครงการขนาดกลาง
เมื่อทำโครงการเล็กได้ดี ก็ขยายขนาดโครงการขึ้นไป - มอบหมายให้รับผิดชอบมากขึ้น
เมื่อทำโครงการขนาดกลางได้ดี ก็อาจจะมอบหมายโครงการใหญ่/งานสำคัญ/หรือตำแหน่งที่สำคัญมากขึ้น