จะบริหารเจนวายอย่างไรดี

“คุณเกรียงศักดิ์ มีหนังสือเล่มไหนที่จะแนะนำเกี่ยวกับการบริหารเจนวายไหมครับ” มงคลถาม

“ยังไม่เจอที่โดนใจครับ กังวลใจอะไรครับ”

“ผมไม่เข้าใจคนรุ่นนี้มาก เขาทำงานกับผมพักหนึ่ง แล้วก็ลาออกไป แถมไม่บอกอะไรเราตอนลาออก”

“สองเดือนก่อน ผมถามในเฟซบุ๊คเรื่องการบริหารคนเจนวาย โดยถามสองข้อคือ คนที่บริหารเจนวายเขามีเทคนิคอย่างไร และเจนวายเองอยากให้นายบริหารเขาอย่างไร”

“คุณเกรียงศักดิ์รู้จักเจนวายมากน้อยขนาดไหน”

“ผมโชคดีที่โค้ชเด็กรุ่นนี้ที่เป็นผู้บริหารฝึกหัดอยู่หลายกลุ่ม ในเฟซบุ๊คผมมีเพื่อนสองร้อยคน สองในสามเป็นเจนวาย

ลองดูผลของแบบสอบถามไม่เป็นทางการของผมดูครับ

สำหรับคนที่บริหารเจนวายบอกว่า

  • ให้ข้อมูลย้อนกลับตรงไปตรงมา ในเวลา และให้อย่างสร้างสรรค์ ระบุไปที่พฤติกรรม และผลลัพธ์
  • เปิดโอกาสให้เขาแสดงความคิดหรือนำเสนอไอเดีย และได้มีโอกาสนำความคิดที่เสนอไปใช้ในงานด้วย
  • ไม่ว่าเจนเนเรชั่นไหน เรื่องของใจสำคัญที่สุด ถ้าได้ใจอะไรก็ได้ ที่สำคัญคือจะได้ใจอย่างไรนั้นเป็นเรื่องยาก
    สำหรับเจนวาย เขาแนะนำผู้บริหารว่า

ถ้าเป็นไปได้ บอกเป้าหมายให้เรารู้ แล้วให้เราหาหนทางทำเอง ให้เราสามารถกำหนด แนวทาง วิธีการ รางวัล และการลงโทษเองได้

บอกเราเท่าที่จำเป็น แล้วคอยดูห่างๆ ให้ข้อมูลย้อนกลับด้วยการพูดให้คิดเองว่าต้องปรับปรุง เน้นการทำดีเป็นแบบอย่าง ชมเมื่อเราทำดี

ไม่ทำตัวให้เหินห่าง เบเบี้บูมเมอร์ส่วนใหญ่ฟอร์มจัด เจ้ายศเจ้าอย่าง

มองเราเป็นลูกศิษย์ไม่ใชลูกน้อง มีเมตตา เก่งจริง สอนเป็น และอยากสอน

โยนงานท้าทายให้ทำ บอกผลลัพธ์ที่ต้องการเปิดโอกาสให้คิดขั้นตอนเอง ไม่ต้องตีกรอบ ไม่ต้องมาคุม ตามยิกๆ บอกวันที่ต้องการมาให้ชัดเจน คอยมอง และคอยให้คำปรึกษาอยู่ห่างๆ ให้ข้อมูลย้อนกลับว่าผลงานเป็นอย่างไรเพื่อให้เราได้พัฒนาแก้ไขได้ด้วยตนเอง เมื่องานสำเร็จให้เครดิตและประกาศให้คนอื่นทราบถึงผลงาน อย่าให้ทำงานประจำซ้ำซากเดินหกเดือน จะเบื่อและมองหาความท้าทายใหม่

ใช้งานหนัก ให้งานยาก จ่ายเงินสูง ผลงานไม่ดี ทำไม่ได้ไล่เราออกเลย

กล้ามอบหมายงานให้ บอกแนวทางคร่าว ๆ มีกำหนดเสร็จที่ชัดเจน บอกเงื่อนไข ข้อจำกัดที่มีให้ทราบ ที่เหลือเดี๋ยวเราจัดให้

ทำให้เรารู้ว่านายเห็นคุณค่าของงาน ซื้อใจเราได้ ทำงานให้เต็มที่เลยไม่ต้องขอ และพร้อมรับผิดชอบหากงานไม่ดี”

“น่าสนในมากครับ คุณเกรียงศักดิ์มีความเห็นอย่างไรครับ”

“มันมีนัยยะครับ

พวกเขามีลักษณะดังนี้

  • คนรุ่นนี้ฉลาด เชื่อมั่นในตนเอง เขาต้องการเสรีภาพในการคิด
  • ชอบความท้าทาย เขาอยากพิสูจน์ฝีมือ ความท้าทายไม่กลัว ดูน่าสนใจต่างหาก
  • พวกเขาโตมากับ ไมโครเวฟ มาม่า สมาร์ทโฟน อินเตอร์เน็ท เขาอยากเห็นผลเร็ว ใจร้อน ไม่ทนต่อขั้นตอน หรือพิธีการ ต่างๆ
  • เขาไม่สนความจงรักภักดีต่อองค์กร เขาไม่ตั้งใจจะทำงานจนเกษียณที่องค์กรของคุณ เขาอยากประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย แบบเจ้าของกูเกิ้ล หรือเฟซบุ๊ค
  • เราคงเปลี่ยนเขายาก เราอาจจะต้องเปลี่ยนวิธีบริหารเขา

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าเจนวายทุกคนจะเป็นแบบนี้ไปหมด มันก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของแต่ละบุคคล เราต้องสังเกตและเรียนรู้เรื่องราวของแต่ละคน แล้วบริหารและจูงใจให้ถูกจริตกันเป็นคน ๆ ไป”

“มันยากสำหรับผมเหมือนกันครับ” มงคลเปรย

“ผมมีแนวทางให้ มีคำถามชุดหนึ่งที่จะช่วยให้คุณเข้าใจคนแต่ละคนได้ ไม่ว่าจะเจนเนเรชั่นไหนก็ตาม ขอเวลาคนละสิบห้านาทีเชิญเขาแต่ละคนมาคุย โดยถามคำถามชุดนี้

  • ภูมิหลัง โตที่ไหน มีพี่น้องกี่คน ตอนเด็กๆมีความท้าทายอะไรบ้าง
  • จุดแข็ง ถนัดและชอบทำอะไรบ้าง เพราะอะไร
  • สไตล์ อยากให้มอบหมายงานแบบไหน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงควรสื่อสารอย่างไร อะไรจูงใจ อะไรไม่จูงใจ
    ไม่ถนัดหรือไม่ชอบอะไร หากต้องมอบหมายงานที่ไม่ถนัดหรือไม่ชอบ ต้องพูดแบบไหนดี
  • ฉันจะช่วยให้เธอทำงานดีขึ้นได้อย่างไรอีก”