ทำไมผมจึงไม่ได้เลื่อนตำแหน่ง

สัมฤทธิ์ติดต่อผมหลังจากอ่านแนวทางการโค้ชมาหลายตอน

เราจึงพบกันหลังจากที่สื่อสารกันทางอีเมล์และโทรคุยกันมาก่อน

ผมสรุปความเข้าใจในตอนเริ่มต้นการสนทนากัน “คุณสัมฤทธิ์ คุณบอกว่าคุณไม่รู้สาเหตุว่าทำไมจึงพลาดการเลื่อนตำแหน่งมาหลายครั้งในห้าปีที่ผ่านมา คุณทำงานกับนายต่างชาติสองคนเป็นอเมริกันหนึ่งและฝรั่งเศสอีกคนหนึ่ง

“ถูกต้องครับ” เขาพยักหน้า

“แล้วผลงานในห้าปีที่ผ่านมาของคุณเป็นอย่างไรบ้าง”

“ผมทุ่มเทเต็มที่ทั้งแรงกายและแรงใจ ผมบรรลุเป้าหมายของ KPI หลัก ๆ ทุกตัว ผลประเมินก็อยู่ในเกณฑ์ ดี มาตลอด”

“ระบบการประเมินผลของบริษัทคุณเป็นอย่างไรครับ”

“เขามีเกณฑ์สี่ระดับคือ ยอดเยี่ยม ดี พอใช้ และต้องปรับปรุง”

“ประเมินตัวเองว่าอย่างไรครับ”

“ผมคิดว่าผมน่าจะได้ ยอดเยี่ยม ทั้งห้าปีนะครับ แทนที่จะได้เพียง ดี นะครับ แต่ว่านายผมไม่ยุติธรรมกับผม ไม่งั้นผมคงได้รับการโปรโมทไปนานแล้วครับ”

“คุณสัมฤทธิ์ ผมไม่มีหน้าที่ที่ต้องมาตัดสินคุณนะ ฉะนั้นอย่าโกรธสำหรับคำถามที่ผมจะถามต่อไปนี้ ผมเชื่อว่าคุณ คิด ว่าคุณทำงานหนักเต็มที่แล้ว

คุณคิดว่านายของคุณ คิด เหมือนคุณหรือไม่ครับ”

“อาจจะไม่”

“น่าจะมีสาเหตุอะไรบ้างที่อาจทำให้นายของคุณ คิด ต่างไปจากคุณ”

“”ไม่รู้ซี เขาอาจจะเลือกโปรโมทคนโปรดก็ได้ เพราะเขาไม่แฟร์นี่”

“คุณมีหลักฐานอะไรยืนยันเรื่องนี้หรือครับ”

“ที่จริงก็ไม่มีหรอก”

“ถ้าอย่างนั้นก็อย่าเดาครับ ยกประโยชน์ให้จำเลยไปเสีย ในกรณีนี้หากว่าเราประเมินว่านายทั้งสองคนของคุณคือนายปกติ ไม่มีการลำเอียง ทำไมเขาถึงไม่ประเมินคุณว่า ยอดเยี่ยม ซักครั้งเลยละครับในห้าปีที่ผ่านมา”

“เขาอาจจะมีดุลยพินิจที่ไม่ดีในเรื่องการประเมินคนก็ได้”

“มีคนอื่นบ่นในทำนองนี้หลายคนในรอบห้าปีไหมครับ”

“ก็ไม่มี”
“แล้วอย่างนั้นอะไรละครับทำให้เขาเห็นต่างกับคุณ”

“อืม…ผมอาจจะขายตัวเองไม่เก่งก็ได้”

“ขยายความหน่อยครับ”

“ผมเป็นคนนอบน้อมครับ ผมคิดว่าหากเราทำงานดีแล้ว นายก็ต้องเห็นเอง และนายก็ต้องดูแลลูกน้องที่ผลงานดี ใครทำงานหนักก็ต้องได้รับรางวัลหรือเลื่อนขั้น เป็นความรับผิดชอบของนายนี่ครับ”

“อะไรทำให้คุณเชื่ออย่างนั้นละครับ”

“พ่อผมสอนผมมาตั้งแต่เด็ก คุณพ่อผมเป็นนายทหาร ท่านรับราชการและทำงานกับนายที่ดูแลท่านมาตลอด พ่อผมได้ดิบได้ดีเพราะทำงานใกล้ชิดกับนาย นายเห็นผลงานก็ส่งสริมให้ก้าวหน้า ไม่ต้องเสนอหน้าแต่อย่างใด ผมก็เลยเชื่ออย่างนี้มาตั้งแต่เด็ก”

“แล้วความเชื่อนี้มันประยุกต์ใช้ได้กับสถานการณ์ปัจจุบันของคุณมากน้อยขนาดไหนครับ”

“ก็อาจจะไม่นะ เพราะปัจจุบันผมทำงานระบบ Matrix คือรายงานนายตั้งสามคน ทั้งในประเทศไทย และในระดับภูมิภาคที่เมืองนอก มันยากที่บรรดานาย ๆ ของผมจะรู้ว่าผมทำงานได้ดีมากน้อยเพียงไหน ยกเว้นแต่ว่า…”

“ยกเว้นอะไรครับ”

“ยกเว้นว่าผมต้องสื่อสารเรื่องของตัวเองไปสู่นายให้ดีเยี่ยมเท่านั้น”

“ผมว่ามาถูกทางแล้ว แล้วจะทำอย่างไรต่อครับ”

“ผมอาจจะต้องทำการตลาดตัวเองเช่น

  1. รายงานความคืบหน้าของงานให้นายทราบมากที่สุด สื่อสารมากไปนิดดีกว่าขาดไปหน่อย
  2. ต้องนำเสนอให้เก่ง ผมมักจะเลี่ยงการนำเสนอเพราะอายที่ต้องออกไปพูดหน้าห้องประชุม ต้องไปอบรมการนำเสนอให้เก่ง
  3. ต้องพูดให้เยอะขึ้นในห้องประชุม เพื่อน ๆ บอกผมว่าเงียบมากไป
  4. ต้องอาสางานโครงการต่าง ๆ ทำให้คนเห็นผลงาน

มีอะไรอีกไหมครับคุณเกรียงศักดิ์”

“ตอนนี้นายเป็นคนชาติไหนครับ”

“อเมริกัน”

“คุณทำงานกับเขาแบบไหน”

“ผมก็สุภาพและให้เกียรติเต็มที่”

“เขา feedback คุณว่าไง”
“เขาบอกว่าผมน่าจะถกเถียงเขามากกว่านี้”

“ทำไมไม่ทำครับ”

“เกรงใจ มันดูไม่สุภาพและไม่ให้เกียรติ”

“แต่คุณก็เพิ่งบอกนี่ว่าเขาอยากให้คุณถกเถียงเขามากกว่านี้ ที่จริงแล้วการที่คุณไม่เถียงต่างหากที่เขาอาจจะมองว่าคุณไม่ให้กียรติเพราะเขาบอกแล้วไม่เชื่อ เผลอ ๆ เขาอาจจะคิดไปว่าคุณไม่เข้าใจเขา ซึ่งอาจจะเป็นการไม่สุภาพในสายตาเขาก็เป็นได้”

“ผมจะลองปรับดูครับ”