“คุณเกรียงศักดิ์ นิดกำลังหางานใหม่อยู่คะ มีที่ไหนพอจะแนะนำได้บ้างคะ” นิดผู้จัดการฝ่ายขายในบริษัทที่ทำธุรกิจบริการแห่งหนึ่งโทรมาหาผม
“ทำไมอยากหางานใหม่ละครับ”
“นิดไม่ชอบนายคะ แล้วงานก็หนักมากจนไม่มีเวลาให้พ่อแม่เลย”
“แต่คุณทำงานกับนายคนนี้มาสามปีแล้วนี่ครับ”
“ตอนเศรษฐกิจดีตัวเลขก็ดี นายชมนิดบ่อย ๆ ก็มีความสุขดีคะ แต่ว่าภาวะอย่างนี้ ตัวเลขมันไม่ถึงเป้า นายก็มาเร่งกดดันกับนิด นิดก็อธิบายให้เหตุผลไปว่าคงทำได้ไม่เข้าเป้าหรอกนะ เขาไม่สนใจ เขาบอกว่านิดมีศักยภาพ และต้องทำให้ได้
หกเดือนที่ผ่านมานิดทำงานหนักมากเลย กลับบ้านค่ำทุกวัน จนพ่อแม่บ่นว่าไม่มีเวลาให้ท่านทั้งสอง นิดก็อธิบายให้พวกเขาฟัง เขาเลยแนะนำว่าหางานใหม่เถอะลูก ลาออกมาหางานเลยก็ได้พ่อแม่ยินดีสนับสนุนเรื่องเงิน แต่ว่านิดไม่อยากหางานโดยที่ยังไม่มีงานทำ”
“มีลูกค้าเคยชวนไปทำงานด้วยไหมครับ” ผมถาม
“ยังคะ ทำไมหรือคะ”
“แสดงว่าคุณยังไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนงานนะซี สัญญาณที่บอกว่าพร้อมคือการที่ลูกค้าคุณชักชวนไปทำงานด้วย”
“เพราะอะไรคะ”
“แล้วคุณคิดว่าอย่างไรละครับ”
“เพราะว่าเขาอาจจะประทับใจวิธีการทำงานของเราใช่ไหมคะ”
“ใช่เลย หรืออาจะเพราะเขาสามารถสังเกตความกระตือรือร้น ความใส่ใจ หรือการมีไฟในงานของเรา”
นิดเงียบไปพัก “แต่นิดไม่มีความสุขในงานนี่คะ”
“เพราะอะไรครับ”
“นิดไม่ชอบนาย”
“แต่ในอดีต คุณเคยสนุกและมีไฟในงานนี่”
“ตอนนั้นขาขึ้นนี่คะ ทำทะลุเป้า นายก็ชม นิดก็สบายใจ”
“แล้วปีนี้คุณคิดว่าจะเข้าเป้าไหมครับ”
“คงไม่คะ นายก็คงคิดเหมือนกัน เขาถึงหงุดหงิดกับนิดมากไงคะ”
“นิด ถ้าคุณเป็นนายคุณ คุณจะทำอย่างไร”
“นิดจะแสดงความเห็นใจกับผู้จัดการฝ่ายขาย และจะพยายามทำความเข้าใจว่าสถานการณ์เป็นอย่างไรด้วยการซักถามหาข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาเพิ่มขึ้น หลังจากนั้น ก็จะนั่งลง ช่วยกันระดมความคิดว่า แนวทางการแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ควรจะเป็นอย่างไร เราทั้งสองคนอาจจะค้นหาหนทางการแก้ปัญหาที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆออกมาได้
แต่ว่าหากมาใช้วิธีกดดันแบบนี้ นิดคิดไม่ออกหรอกคะ ในใจคิดแต่ว่าจะหางานใหม่อย่างไรดี”
“เป็นวิธีที่น่าสนใจนะครับ ไม่ลองเปลี่ยนแปลงตัวเองดูละครับ”
“บางทีนิดอาจจะต้องตระเตรียมข้อมูลและแผนงาน แล้วไปหานาย พยายามอธิบายว่านิดอาจจะไม่ใช่คนที่คิดอะไรสร้างสรรค์ภายใต้แรงกดดัน และอาจจะขอเวลานายเพื่อที่จะนั่งลงคุยกันระดมความคิดออกมา นิดว่ายังพอมีความหวัง”
“ผมว่าเป็นไอเดียที่ดีนะครับ หากคุณลาออกเพราะไม่ชอบนาย ก็คงเกิดวงจรแบบนี้ไปเรื่อย ๆ แหละครับ เพราะว่าการที่จะทำงานกับนายที่ถูกใจนั้น ยากพอ ๆ กับซื้อหวย อีกอย่างหนึ่งในภาวะอย่างนี้ นายส่วนใหญ่ก็ทำงานภายใต้แรงกดดันด้วยเช่นกัน เขาอาจจะเรียกร้องจากเรามากขึ้น หงุดหงิดง่ายขึ้น เขาก็คน เป็นเรื่องปกติ พวกเขาไม่ได้ทำไปเพราะไม่ชอบเราเป็นการส่วนตัวหรอกครับ นายก็คนเหมือนกันมีอารมณ์บ้างตามวิสัยปุถุชน
แต่ว่านิดอย่าลืมว่าเราเองมีทางเลือก ไม่มีใครสามารถทำร้ายจิตใจเราได้ หากเราไม่อนุญาต นิดไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของนายได้ แต่สามารถบริหารอารมณ์ของตัวนิดเองได้
สิ่งที่นิดควรทำก็คือ นั่งลงวางแผนเรื่องงานสำหรับอนาคต เราปรารถนาจะเป็นอะไรต่อไป ในตำแหน่งนั้น ต้องการคุณสมบัติอะไรบ้าง และในงานปัจจุบันนี้ เราสามารถที่จะเรียนรู้หรือฝึกฝนทักษะหรือศักยภาพเรื่องใดบ้างสำหรับตำแหน่งงานในอนาคต
หากนายเราไม่พอใจในผลงาน แสดงว่าเรายังต้องมีเรื่องพัฒนาในคุณสมบัติหรือศักยภาพบางอย่างอยู่ เร่งมือปรับปรุงตัวเองครับ”
“แล้วคุณภาพชีวิตละคะ”
“เรื่องความสมดุลย์และคุณภาพชีวิตงานกับเวลาส่วนตัวนั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ตอนนี้นิดอาจจะต้องมุ่งความสนใจไปกับการปรับปรุงผลงานก่อน จนนายเริ่มกลับมาเชื่อมั่นในผลงานเราแล้ว อาจจะลองหาเวลาปรึกษากับเขาเรื่องการสมดุลย์ของงานและส่วนตัวอีกที”