“เกรียงศักดิ์เราจะทำอย่างไรดี ข้าวของแพงขึ้นทุกวัน รายได้ที่ได้รับแทบจะไม่พอกับรายจ่ายและค่าครองชีพที่ขยับตัวขึ้นทุกวัน เราจะหารายได้เสริมอย่างไรดี” แดงเพื่อนเก่าถามผม
“นายยังทำงานที่เดิมใช่ไหม”
“ใช่แล้ว” แดงเป็นผู้จัดการในบริษัทของไทยขนาดกลาง
“เราไม่แนะนำให้นายไปหารายได้เสริมหรอกนะ เพราะมันจะกระทบกับงานหลักของนาย ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
- ตอนนี้บริษัทต้องการให้พนักงานทุกคนทุ่มเทเต็มที่ การมีงานเสริมมันจะกระทบเวลาการทำงานหลักของนายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
- ยิ่งนายเป็นผู้จัดการ หากลูกน้องเห็นแล้วเอาอย่าง งานในฝ่ายก็จะกระทบตามไปด้วย
- ในที่สุดมันจะทำให้บริษัทเสียหายได้
“แล้วเราควรทำอย่างไรดีล่ะ”
“แล้วนายคิดว่าอย่างไรล่ะ” ผมถามกลับ
“ไม่รู้สิ ถึงถามนายไง” น้ำเสียงมีแววโกรธเล็ก ๆ
“แดงนายอย่าโกรธเรานะ เราอยากช่วยนายจริง ๆ แต่ว่าเราอยากช่วยให้นายคิดด้วยตัวเองมากกว่า มันดีระยะยาว เราไม่เก่งในการตอบแบบพลาสเตอร์ยา คือเอาเร็ว ๆ เข้าว่า ถามจริง ๆ นายคิดไม่ออก…หรือว่าไม่อยากคิด”
“โอเค…โอเค ที่จริงเราควรจะโฟกัสที่บริษัทไม่ใช่ที่ตัวเราเองใช่ไหมล่ะ”
“ดีมาก คำถามที่นายควรถามตัวเองคือ นายจะทำให้บริษัทดีขึ้นอย่างไรในภาวะที่ยากลำบากเช่นนี้”
“เราอาจจะช่วยให้บริษัทบริหารค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น
- ทบทวนขั้นตอนการทำงานว่าจะปรับลดให้กระชับขึ้นได้อย่างไร เราอาจให้ทีมงานระดมความคิดกัน
- ทบทวนงบค่าใช้จ่าย เพราะงบประมาณปีที่แล้วโดยประมาณการยอดขายที่สูงกว่านี้ ดังนั้นน่าจะบริหารค่าใช้จ่ายจริงลงได้หลายเท่าตัว
- จัดการอบรมคนของเราในเนื้องาน ช่วงนี้งานไม่มากนัก เราควรสอนการทำงานให้พนักงานใหม่ ๆ เขาทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- สื่อสารให้ดีขึ้น ในอดีตการสื่อสารที่น้อยและไม่ชัดเจนทำให้งานผิดพลาดบ่อย ๆ
- แนะนำไอเดียเหล่านี้ให้หัวหน้าเราและฝ่ายอื่น ๆ”
“เยี่ยมเลย เห็นไหมล่ะนายคิดได้เองตั้งมากมาย”
“ขอบใจนะที่ไม่ตอบเราด้วยคำตอบแบบพลาสเตอร์ยา”
“ไม่มีปัญหา แต่ว่าอย่าหยุดแค่นี้แดง นายเคยเสนอไอเดียดี ๆ แล้วลูกน้องต่อต้านไหม”
“โอ้ย…บ่อยไป”
“เพราะอะไรพวกเขาถึงต่อต้านล่ะ”
“เขาอาจจะไม่อยากออกจากดินแดนของความคุ้นเคย เพราะสบายดีอยู่แล้ว หรือไม่ก็อาจจะเห็นว่าไอเดียเป็นของเราที่ไปยัดเยียดให้เขาโดยที่เขาไม่ได้มีส่วนร่วมมั้ง”
“แล้วนายจะป้องกันปัญหานี้อย่างไรดี”
“เราก็อาจจะเล่าให้เขาฟังเรื่องที่เราปรึกษานาย แล้วนายก็ถามความเห็นเราเรื่องการลดค่าใช้จ่ายของบริษัท เพียงแต่ว่าเราอาจจะใช้วิธีขอให้พวกเขามาช่วยระดมความคิดกัน แทนที่เราจะบอกคำตอบไปเลย พวกเขาน่าจะคิดได้ใกล้เคียงกับเรานะ”
“ดีนะเราคิดว่าเวิร์ก เพราะว่านี่คือการบริหารการเปลี่ยนแปลงในส่วนของการนำไปปฏิบัติที่ใช้งานได้จริง”
“มีอะไรจะแนะนำอีกเราไหม เกรียงศักดิ์”
“เราคิดว่าหากนายต้องการมีรายได้เพิ่มในระยะยาวแล้ว นายต้องพัฒนาขีดความสามารถของนายให้มากขึ้นและเก่งขึ้น แล้วบริษัทก็จะมองเห็นผลงาน และอยากมอบหมายความรับผิดชอบใหม่ ๆ หรือขยับขยายบทบาทให้นายในที่สุดนะ”
“โอ้ย แต่ภาวะอย่างนี้เราไม่มีเงินไปอบรมหรอก”
“ที่จริงการพัฒนาตนเองนั้นไม่ได้ใช้เงินมากมาย มีหลายตัวอย่าง อาทิ
- ถามซัพพลายเออร์ที่ขายของกับนายว่า เขามีอบรมสัมมนาอะไรที่นายสามารถไปร่วมได้บ้าง
- หากไม่มีก็อาจจะขอไปศึกษาดูงานที่บริษัทของเขาก็ได้ ให้เขาสอนนายเรื่องความรู้ความชำนาญของเขา
ทุก ๆ องค์กรมีความรู้มากมายที่เราสามารถจะเรียนรู้และแลกเปลี่ยนกันได้ - ติดต่อพนักงานขายที่ขายสินค้าหรือบริการให้บริษัทนาย ให้เขามาแนะนำสินค้าหรือบริการที่สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพหรือบริหารค่าใช้จ่ายได้ดียิ่งขึ้น
- ออกตลาดกับฝ่ายขายในบริษัทของนาย ออกไปพบลูกค้า เรียนรู้ภาวะตลาด
- เรียนรู้จากเพื่อนร่วมงานเก่งๆ ในบริษัทของนายนั่นแหละ เคยมีผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดคนหนึ่งที่อ่อนการเงิน แต่เขาอยากเติบโตขึ้นเป็นซีอีโอ เขาก็ใช้วิธีไปรับประทานอาหารกลางวันกับเพื่อนซีเอฟโอที่บริษัทบ่อยๆ แล้วขอให้เขาสอนพื้นฐานการเงินให้”