เรียนรู้อย่างไรให้เกิดผล

กานดาถามผมในระหว่างการโค้ชผู้บริหารแบบตัวต่อตัวว่า  มีคำแนะนำอะไรบ้างสำหรับเธอ  บริษัทได้ส่งเธอไปเรียนปริญญาโทสำหรับผู้บริหารภาคค่ำ  โดยบริษัทออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด  ซึ่งค่าเล่าเรียนแพงมาก

“คุณกานดามีวัตถุประสงค์อะไรครับที่ไปเรียน”

“กานดาเป็นผู้บริหารระดับสูง  มีอะไรต้องเรียนรู้อีกมาก  อยากรู้ว่าวิธีการจัดการที่ดีเป็นอย่างไร  สิ่งที่คนอื่นพลาดกันมาก่อนเราจะเลี่ยงได้อย่างไรบ้าง”

“ดีครับต้องยึดเป้าประสงค์นี้ให้มั่น  อย่าไปเรียนเพียงเพื่อจะได้ปริญญาบัตร  เราต้องการความรู้ว่าหลักการที่ถูกต้องคืออะไร  สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงมีอะไรบ้าง  ผมมีข้อเสนอแนะดังนี้ครับ

1. อ่านตำราก่อนเข้าชั้นเรียน  อย่าคาดหวังให้อาจารย์มาบรรยายจากตำรา  เราไปเรียนปริญญาโทเพื่อทำการอภิปราย  แลกเปลี่ยน  ฟังคนอื่น  ถามคำถาม  และมองหาแง่มุมใหม่ ๆ  ในการอ่านก่อนเข้าเรียนแต่ละบท  ควรสรุปประเด็นสำคัญ ๆให้ได้  และตั้งคำถามสี่ห้าข้อเป็นอย่างน้อย

2. ไปถึงก่อนเวลา  เพราะว่าค่าเล่าเรียนแพงมาก  อย่าไปสายหรือขาดชั้นโดยไม่จำเป็น คุณเป็นผู้บริหารระดับสูงต้องทำตัวเป็นแบบอย่างให้คนอื่น ๆ เขาเห็น  นอกจากนี้การโดดเรียนหรือไปสายเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมแล้ว  ยังถือเป็นการโกงซึ่งบาปด้วย  เพราะว่าคุณโกงเวลาของบริษัท  นอกจากนี้การศึกษาในบ้านเรานั้นส่วนใหญ่รัฐบาลต้องสนับสนุนด้วยไม่มากก้อย  คุณก็โกงภาษีอากรของคนอื่น ๆ ไปด้วย  ยิ่งบาปหนักไปใหญ่

3. การไปก่อนเวลายังมีโอกาสได้สอบถามเพิ่มเติมจากอาจารย์ด้วย  สังเกตดูนิดหนึ่งว่าอาจารย์ไม่ยุ่งมากนักกับการเตรียมสอนละก็  เข้าไปถามเขาเลย  หากเราอ่านตำรามาก่อนก็จะมีคำถามที่ได้ตระเตรียมไว้แล้ว  ถามซักหนึ่งหรือสองข้อก็ได้  แล้วเก็บที่เหลือไว้ไปถามต่อระหว่างเรียนในชั้น  อาจารย์จะจำคนที่ถามและตั้งใจ  เรียนได้ดีกว่าคนอื่น  ซึ่งก็จะมีผลต่อคะแนนตามไปด้วย

4. เวลาเรียนนั่งตัวตรง  อกผายไหล่ผึ่ง  อย่านั่งพิงสบายเกินไปเดี๋ยวง่วง  ตั้งใจเรียน 120%  ทุก ๆ สิบนาทีพยายามกำหนดจิตทบทวนในใจพร้อมบันทึกเรื่องราว  ด้วยการตั้งคำถามกับตัวเองว่า  กำลังเรียนเรื่องอะไร  ต่อเนื่องมาจากไหน  กำลังจะไปเรื่องใด  จากการวิจัยในหนังสือ Brain Rules ของ John Medina  พบว่ามนุษย์จะทนฟังการนำเสนอไม่เกินสิบนาที  นี่เป็นงานวิจัยใหม่ที่อาจารย์จำนวนมากยังไม่ทราบ

5. ดื่มน้ำให้เยอะเข้าไว้  จากหนังสือ  Brain-Based Learning  ของ  Eric Jensen  มีการศึกษาพบว่าครูที่สนับสนุนให้นักเรียนดื่มน้ำบ่อย ๆในระหว่างการเรียนนั้น  พฤติกรรมการเรียนและผลการเรียนรู้ของนักเรียนดีขึ้นมาก  เพราะสมองคนเรานั้นใช้อ๊อกซิเจนถึง 20% ของปริมาณอ๊อกซิเจนที่ร่ายกายนำเข้าไป  น้ำทำให้อ๊อกซิเจนในเลือดเพิ่มขึ้นและนำไปหล่อเลี้ยงสมองเราระหว่างเรียน

6. ถามคำถามให้เยอะเข้าไว้

7. เมื่ออาจารย์ถาม  ให้อาสาตอบให้เยอะเข้าไว้เช่นกัน

8. เมื่อหมดเวลาอย่ารีบกลับ  หากสังเกตว่าอาจารย์ไม่เร่งรีบไป  เข้าไปถามต่อ  แสดงความเห็น  เป็นการทบทวนไปด้วย

กานดาแทรกขึ้นมาว่า  “หากถามเยอะ ๆ เพื่อนในชั้นจะว่ากานดาโง่ไหมคะ  เขาอาจจะดูถูกเอาก็ได้”

“คุณคงห้ามเพื่อนคุณไม่ได้หรอก  แต่ก็ไม่เห็นเสียหายอะไรมากมายเลย  เสียหน้าแล้วจะเป็นไรไปละ  ก็แค่ความรู้สึกของคุณแค่นั้นแหละ  ในทางกลับกัน  การถามทำให้คุณเข้าใจถูกต้อง  ในระยะยาวแล้วมันดีกับคุณเองต่างหากละ  เพราะคุณจะได้ไม่พกเอาความเข้าใจผิดไปใช้  ลองนึกดูว่าหากกลัวเสียหน้าและเข้าใจผิด  วันหนึงเอาความเข้าใจผิดพกไปในที่ทำงานก็อาจจะทำให้เกิดความเสียหายมากกว่า  แถมยังเสียหน้าอยู่ดีแหละ  นี่คือประโยชน์ของการศึกษาไงละ เรามาลองผิดลองถูกในชั้นเรียนด้วยต้นทุนที่น้อยกว่ามาก”

“มีคำแนะนำอะไรอีกคะ”

“ปริญญาโทมักจะเน้นกรณีศึกษามาก  มีส่วนร่วมให้มากที่สุด  ออกความเห็นในระหว่างการทำงานกลุ่ม  อาสารับทำรายงาน  อาสานำเสนอ  อย่าเอาแค่ฟังเล็คเชอร์อย่างเดียว  ที่เน้นก็คือการนำเสนอ  ถือเป็นเวทีฝึกเลย  ผมเห็นคนเก่ง ๆจำนวนมากที่นำเสนอไม่เป็นทำให้คนมองไม่เห็นความเฉลี่ยวฉลาดที่แท้จริงของพวกเขา

คำแนะนำเหล่านี้สามารถจะใช้ได้กับการอบรมในองค์กร  รวมทั้งการประชุมต่าง ๆ ด้วยนะครับ”