แต่การทำงานให้สำเร็จผ่านคนอื่นนั้นเราต้องการความมุ่งมั่นและความทุ่มเทจากคนทำงานด้วย
เราจะทำให้เขามุ่งมั่นและทุ่มเท เราก็ต้องมุ่งมั่นและทุ่มเทในการ “เข้าใจเขาก่อน”
แล้วจึงมอบหมายงานออกไป
เพราะว่า “คนทำงานฐานความรู้ (Knowledge Worker) แต่ละคนคิด/เชื่อ/ทำ ต่างกัน”
หัวหน้าส่วนใหญ่มักอ้างว่า “ไม่มีเวลาทำความเข้าใจลูกน้องเป็นรายคน”
แต่สุดท้ายเวลางานออกมาไม่ได้ดังใจ กลับ ”มีเวลาแก้ไขงาน” อยู่เสมอ
ดังนั้น ลองแนวทางนี้ดูครับ
1. ซื้อใจให้ได้ก่อน เดี๋ยวผลงานตามมา
2. แต่ละคนมีแรงจูงใจและสไตล์ต่างกัน
3. สังเกต ค้นหา ถาม ให้เข้าใจแต่ละคน
4. สื่อสาร/โน้มน้าว ให้เหมาะกับจริตแต่ละคน
5. ติดตามประเมินผลตนเอง อะไรเวิร์ค/ไม่เวิร์ค
เรื่องแรงจูงใจ แต่ละคน มีหลากหลาย…
– บางคนต้องการเติบโต
– บางคนต้องการเงินเยอะ
– บางคนต้องการความมั่นคง
– บางคนต้องการไปเรื่อย ๆ
อ่านให้ออกก่อนลงมือ สื่อสาร/โน้มน้าว
เรื่องสไตล์ แต่ละคนก็มีหลากหลาย เช่นกัน…
– บางคนต้องเป็นกันเองก่อน จึงกล้าคุยด้วยเยอะ
– บางคนบอกมาเลยตรง ๆ ดีกว่าอย่ามาอ้อมค้อม
– บางคนยังไงก็ได้ทำเต็มที่อยู่ดี
– บางคนต้องมีพิธีรีตรอง
– บางคนต้องมีเหตุมีผลเยอะ
อ่านให้ออกก่อนลงมือ สื่อสาร/โน้มน้าว
ระวัง ไม่มีสูตรสำเร็จเดียวกับทุกคน
– อย่าเอาตัวเราเป็นมาตรฐาน
– อย่านำประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งหมดมาใช้กับบริบทใหม่
– อย่ายกเนื้อหาในตำราวิชาการต่างประเทศมาทั้งหมดโดยไม่ประยุกต์
– อย่าคิดว่าวิธีเดียวกันใช้ได้กับทุกคน
ถ้าบริหารคนง่ายแบบนั้น เขาคงไม่ต้องจ้างเรา เอาเทคโนโลยีมาทำงานแทนเราก็ได้
เพราะเรื่องของคน ต้องใช้ทั้งศิลป์และศาสตร์
ที่มา: Leadership Mentor – พี่เลี้ยงผู้นำภาคปฏิบัติ โดยเกรียงศักดิ์ นิรัติพัฒนะศัย