“คุณเกรียงศักดิ์ ดิฉันไม่ต้องการได้รับการโค้ชค่ะ คุณไปโค้ชนายของดิฉันดีกว่าเพราะเขาเป็นต้นเหตุของปัญหาในการทำงานของดิฉัน” คุณจิติมาบอกผม
“ดิฉันทำงานกับนายคนนี้ด้วยยากมาก คุณน่าจะโค้ชวิธีบริหารเจ้านายให้ดิฉันดีกว่านะคะ” เธอพูดต่อ
“แทนที่จะพยายามบริหารจัดการเขา ทำใมไม่ลองเป็นพันธมิตรกับเขาแทนล่ะครับ”
“ต้องทำอย่างไรคะ”
“คุณต้องเข้าใจหน้าที่ของผู้นำยุคใหม่เสียก่อน มาแชล โกลด์สมิท เขียนในบล๊อกว่า ปัจจัย 5 อย่างที่ทำให้ผู้นำในวันนี้ต่างจากอดีตคือ
- คิดแบบโลกาภิวัฒน์ – สมัยก่อนผู้นำมักคิดแต่เรื่องที่ใกล้ตัวภายในประเทศ แต่สมัยนี้ธุรกิจต้องพึ่งพาคู่ค้าและลูกค้าจากรอบโลก และในอนาคตต้องตระหนักถึงผลกระทบของโลกาภิวัฒน์ในทุก ๆ ด้านของธุรกิจ
- เปิดกว้างให้กับความต่างทางวัฒนธรรม – ร้อยกว่าปีก่อนในอเมริกา ความหลากหลายในความเป็นผู้นำมีน้อยมาก แทบทุกธุรกิจได้รับการบริหารโดยผู้ชายผิวขาวชาวอเมริกัน แต่เมื่อไม่นานมานี้ “ความหลากหลาย” นั้นหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างเพศหญิงและคนกลุ่มน้อยในประเทศ และในอนาคต “ความหลากหลาย” จะหมายถึงการเปิดรับศาสนา วัฒนธรรม และผู้คนจากทั่วโลก
- พัฒนาเทคโนโลยี – ทุกวันนี้ผู้นำมีความเข้าใจในเทคโนโลยีที่ใช้เป็นหลักในธุรกิจของตน แต่อาจยังไม่เข้าใจผลกระทบในวงกว้างต่อสังคมและลูกค้า ในอนาคตผู้นำไม่จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีแต่ต้องเข้าใจผลกระทบที่มีต่อธุรกิจ ลูกค้า และต่อโลกของเรา
- พัฒนาความสัมพันธ์กับคู่ค้า – ตัวอย่างที่ดีคือ ไอบีเอ็ม ในอดีตไอบีเอ็มเป็นบริษัทที่ภาคภูมิใจในความสามารถการสร้างผลิตภัณฑ์และให้บริการด้วยตนเองโดยลำพัง ปัจจุบันนี้ ไอบีเอ็มสร้างพันธมิตรใหม่ ๆ ทางธุรกิจเป็นจำนวนมาก ผู้นำในอนาคตจะไม่บริหารบริษัทอย่างโดดเดี่ยวแต่จะบริหารบริษัทคู่ค้าจำนวนมากที่อยู่รอบโลกอีกด้วย
- แบ่งปันความเป็นผู้นำ – ปีเตอร์ ดรักเกอร์ พูดไว้ว่า “ผู้นำสมัยก่อนรู้ว่าต้องพูดอย่างไร ผู้นำสมัยนี้รู้ว่าต้องถามอย่างไร” ผู้นำในอนาคตต้องบริหารพนักงานที่ใช้ความรู้เป็นหลัก แล้วพวกเขาก็รู้รายละเอียดของงานดีกว่าเจ้นนาย ดังนั้นมันจึงเป็นการยากที่จะต้องสั่งงานคนที่รู้ดีกว่าอย่างพวกเขา ผู้นำในอนาคตจะต้องสื่อสารสองทางให้มากขึ้น และสื่อสารแบบทางเดียวให้น้อยลง”
“นี่เป็นวิธีคิดแบบอเมริกันมากเลย”
“แต่ตอนนี้คุณก็ทำงานบริษัทข้ามชาติอยู่แล้วนี่ และเจ้านายก็เป็นชาวต่างชาติ เขาเองเป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัฒน์ ผมคิดว่าแนวคิดห้าข้อนี้ใช้ได้กับคุณและเจ้านาย คำถามที่ผมมีก็คือ คุณจะเป็นพันธมิตรกับนายของคุณแทนที่จะทะเลาะกับเขาได้อย่างไร”
“ดิฉันคงต้องทำความเข้าใจกับผลที่จะตามมาจากแนวคิดทั้งห้าก่อนคะ”
“ดีมากครับ มาดูข้อแรก นัยของโลกาภิวัฒน์คืออะไร”
“การตัดสินใจและการกระทำของเจ้านาย ต้องพิจราณาการทำงานของประเทศอื่นและความพึงพอใจของลูกค้าด้วย เมืองไทยเป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพรวมเท่านั้น”
“ดีครับ แล้วนัยของการเปิดรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมล่ะ คืออะไร”
“ในทีมของดิฉันมีคนจากหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรม ตอนนี้เข้าใจแล้วว่าทำไมในทีมถึงได้ไม่ได้มีเฉพาะผู้หญิงและผู้ชาย ในทีมผู้บริหารก็มีช่วงอายุกว้าง เจ้านายของดิฉันเองก็มักที่จะพิจารณาความเห็นของทุกๆคนก่อนตัดสินใจ”
“คุณจิติมา ผมดีใจที่คุณเห็นภาพ แล้วสำหรับเรื่องเทคโนโลยีล่ะครับ”
“อ๋อ มิน่าล่ะ เจ้านายของดิฉันมีความสนใจใน แบล็คเบอร์รี่ เฟสบุ๊ก และอุปกรณ์ไอทีต่าง ๆ แม้ว่าเขาจะอายุห้าสิบปีแล้ว”
คุณจิติมาเล่าต่อ “สำหรับเรื่องการพัฒนาความสัมพันธ์กับคู่ค้านั้นค่อนข้างชัดเจน ดิฉันเคยไม่เข้าใจว่าทำไมต้องยกเว้นค่าปรับให้กับลูกค้าบางราย แต่เจ้านายบอกดิฉันว่า ในการเป็นคู่ค้าก็ต้องยืดหยุ่นบ้าง บางครั้งการรักษาความสัมพันธ์อาจดีกว่าทำตามกระบวนการเสียทุกอย่าง เจ้านายบอกว่าดิฉันควรจะยืดหยุ่นกับคู่ค้ามากกว่านี้”
“แล้วปัจจัยที่ห้า การแบ่งปันความเป็นผู้นำล่ะครับ”
“ตอนนี้เข้าใจแล้วว่าทำไมเขาชอบถามกลับดิฉัน บางครั้งเขาตอบกลับตรง ๆ ว่า “ผมไม่รู้” ด้วยซ้ำ”
“คุณจิติมา เจฟ อิมเมลท์ ซีอีโอ ของ จีอี เคยพูดใว้ว่า ผู้นำที่ยิ่งใหญ่รู้จักวิธีการตั้งคำถามที่ยอดเยี่ยม”