โค้ชฝรั่งให้เข้าใจคนไทย

ผมพบกับกอร์ดอนบนเครื่องบินขากลับจากเซี่ยงไฮ้ เขาเป็นผู้บริหารระดับสูงชาวอเมริกันในบริษัทข้ามชาติแห่งหนึ่งซึ่งมีชาวไทยสองร้อยคนขึ้นตรงต่อเขา เราสองคนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานต่างวัฒนธรรมกัน

กอร์ดอนถามผมว่า “คุณเกรียงศักดิ์ ในเมื่อคุณเป็นนักเขียนเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างวัฒนธรรม ผมอยากทราบวิธีสร้างความประทับใจกับพนักงานคนไทยของผม ผมขอแบบสั้น ๆ ง่าย ๆ ละกันครับ”

ผมบอกเขาว่า “คุณกอร์ดอน คำถามคุณนะ มันถามง่ายแต่ตอบยาก โดยเฉพาะคุณต้องการสั้น ๆ และง่าย ๆ ผมอาจจะบอกวิธีการที่ผิวเผินเพื่อทำให้คุณสร้างความประทับใจได้ชั่วครั้งชั่วคราว แต่คนไทยเขาดูออกนะครับว่ามันเป็นแค่การเสแสร้ง พวกเราช่างสังเกตออกในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้ ผมขอแนะนำว่าให้คุณเริ่มจากภายในจะดีกว่า”

กอรร์ดอนถามด้วยสีหน้างง ๆ “คุณหมายความว่าอย่างไร”

ผมตอบว่า “ผมจะบอกให้ว่าผู้บริหารชาวไทยที่เก่งในการบริหารคนไทยนั้นเขาคิดอย่างไร ข้อแรกเลย เขาตระหนักว่าคนไทยจำนวนมากมองว่าเขาทำงานให้กับใคร ไม่ได้มองว่าเขาทำงานที่ไหน หากเขาคิดว่านายเขาเป็นนายที่ดี เขาจะรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมในการทำงานดีไปด้วย

นอกจากนี้ผู้บริหารที่เก่ง ๆ จะมองออกว่าคนไทยประเมินคนจากการติดต่อพูดคุยด้วย หากเลือกได้คนไทยเลือกที่จะทำงานกับนายที่ใจเย็น คงเส้นคงวา เป็นมิตร สุภาพ นิ่มนวล เป็นต้น นายที่จะแสดงพฤติกรรมเหล่านี้ออกมาได้นั้น ต้องมีแนวคิดและทัศนคติที่ถูกต้อง”

กอร์ดอนรุกด้วยคำถามต่อไปว่า “แล้วไอ้เจ้าแนวคิดและทัศนคติที่ถูกต้องนี่มันคืออะไรละครับ”

ผมอธิบายว่า “คุณต้องคิดว่าพนักงานเป็นลูกหลาน พี่น้อง หรือญาติของคุณ หากคุณคิดได้อย่างนั้น คุณก็จะสื่อสารกับเขาอีกแบบหนึ่ง”

กอร์ดอนเสริม “สมมติว่าผมคิดว่าพนักงานเป็นญาติหรือเพื่อนของผม แล้วผมก็พูดคุยกับเขาแบบคนอเมริกันพูดคุยกับญาติหรือเพื่อน คือตรงไปตรงมา เปิดเผย ไม่อ้อมค้อม พวกเขาคงไม่แฮปปี้แน่ ๆ ผมว่านะ”

ผมถามสวนเขาไปว่า “แล้วคุณคิดว่า พอจะมีวิธีปรับแนวคิดของคุณอย่างไรละครับ”

กอร์ดอนเงียบไปสักครู่ เขาจึงเอ่ยขึ้นมาว่า “ถ้าอย่างนั้น ผมเดาว่าผมควรจะคิดถึงพวกเขาในบริบทของคนไทย ไม่ใช่ในแนวทางของคนอเมริกันละมังครับ”

ผมยิ้มพร้อมพูดสนับสนุน “นั่นละครับ ซึ่งส่วนนี้ยากที่สุด คุณรู้มั๊ยว่าทำไมจึงยาก”

ดูเหมือนว่ากอร์ดอนจะสนุกกับการถูกท้าทายด้วยำถามยาก ๆ จากผม เขาอุทานออกมาว่า “ผมรู้แล้ว ผมรู้แล้ว เพราะว่าเรามีภูมิหลังที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นค่านิยม ความเชื่อ ประสบการณ์ หากผมยึดกรอบทางความคิดของผม ผมก็จะติดต่อสื่อสารกับคนไทยด้วยแนวทางของฝรั่ง ซึ่งไม่มีวันจะประสบความสำเร็จ”

ผมถามเขาต่อ “กลับมาที่คำถามแรกของคุณ ว่าทำอย่างไรที่จะสร้างความประทับใจให้คนไทย คุณคิดว่าลำดับแรกเลย ควรจะทำอะไร”

กอร์ดอนพูดว่า “ผมน่าจะเรียนรู้เกี่ยวกับค่านิยมของคนไทย ความเชื่อ วิถีชีวิต การศึกษา ว่าพวกเขาเติบโตมาอย่างไร หลังจากนั้นผมจึงพยายามคิดแบบเขาได้ง่ายขึ้น แต่…เดี๋ยวก่อนมันไม่ง่ายสำหรับผมเลยที่จะคิดแบบเขา เพราะว่าผมเองก็มีกรอบความคิดแบบอเมริกันของผมเช่นกัน”

ผมแนะนำว่า “กอร์ดอนคุณเพิ่งยกประเด็นสำคัญมาก ๆ เลยละ เพราะว่าหากคุณใช้ดุลยพินิจของคุณบนกรอบความคิดของอเมริกันละก็คุณไม่มีทางเข้าใจคนไทยหรอก ผมแนะนำว่าคุณมีสองทางเลือก หนึ่งคือ ตั้งพักดุลยพินิจของคุณซะอย่าเพิ่งด่วนตัดสินเขา หรือสอง มองสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างผู้สังเกตการณ์

ทำไมผมจึงแนะนำคุณอย่างนั้น เพราะผมรู้ว่ามันยากสำหรับคนเราที่จะเปลี่ยนกรอบความคิดที่มีติดตัวเรามา ซึ่งอาจจะทำได้เหมือนกันแต่ว่าต้องใช้เวลาและความพยายามมาก น่าเสียดายที่ในโลกธุรกิจทุกวันนี้เราไม่มีเวลามากพอ”

กอร์ดอนกล่าวรับลูกว่า “เพราะว่าผมไม่มีเวลาและความอดทนเพียงพอ ผมจึงไม่คิดจะเปลี่ยน ผมเลือกทำตามความคิดของผม และคาดหวังให้คนไทยเขาปรับเปลี่ยนแนวคิดและพฤติกรรมแทนน่าจะง่ายกว่า เพราะว่าเขาทำงานขึ้นตรงกับผม เขาน่าจะปรับมากกว่าผมนะครับ”

ผมจึงกล่าวว่า “ที่คุณบอกมานี่ เป็นสิ่งที่ชาวต่างชาติหลายคนเลือกวิถีทางนี้ ซึ่งผมมองว่ามันเป็นเสมือนกับดัก พวกผู้บริหารชาวต่างชาติเมื่อเข้ามาเมืองไทยใหม่ ๆ พวกเขาพยายามเรียนรู้วิธีการทำงานร่วมกับคนไทย หลังจากนั้นพยายามแสร้งทำพฤติกรรมให้เป็นไทยโดยไม่ขยายกรอบทางความคิด คนไทยก็เริ่มสังเกตออกและเริ่มไม่ไว้วางใจ สักพักนายชาวต่างชาติก็หมดความอดทน กลับไปเป็นตัวตนที่แท้จริงแบบเดิมดีกว่า คนไทยยิ่งขาดศรัทธาและความมั่นใจมากขึ้น ความสัมพนธ์เริ่มร้าวฉาน ทีมเริ่มไม่เป็นทีม คนไทยเก่ง ๆ บางคนอาจตัดสินใจลาออกไป

กอร์ดอนที่ผมใช้คำว่าขยาย กรอบทางความคิด เพราะว่าผมคิดว่ามันเป็นเรื่องยากสำหรับคนที่จะปรับเปลี่ยนกรอบทางความคิด แต่ว่าสิ่งที่คนพอจะทำได้ก็คือยังคงกรอบความคิดของตนเองอยู่ ในขณะเดียวกันก็รับกรอบทางความคิดใหม่เข้ามา เพราะว่าเมื่อชาวต่างชาติกลับไปสังคมของตัวเองเขาก็ยังสามารถที่จะใช้ชีวิตร่วมกับคนเหล่านั้นได้ เรื่องนี้มันละเอียดอ่อนนะ คุณลองเก็บไปคิดดูละกัน”