เรื่องของคำว่า ไม่เป็นไร ที่ มันเป็นไร

คริสถามผมว่า “คุณเกรียงศักดิ์ คำว่า ไม่เป็นไร นี่ มันคืออะไร ผมได้ยินมันบ่อยมากเลยครับ”

คริสเพิ่งย้ายมาทำงานในประเทศไทยได้หนึ่งเดือน บริษัทเขาเรียนรู้มาด้วยความเจ็บปวดในอดีตว่าการส่งผู้บริหารชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยไม่มีคนช่วยโค้ชแนวทางการทำงานร่วมกับคนไทยนั้นทำให้เกิดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่มีมูลค่าสูงมาก

ผมตอบคริสไปว่า “ไม่เป็นไร ตรงกับภาษาอังกฤษว่า It doesn’t matter, no problem. คนไทยใช้คำนี้ในหลากหลายสถานการณ์มาก ปกติแล้วจะใช้เมื่อเกิดปัญหาขึ้น แล้วอีกฝ่ายหนึ่งจะบอกว่าไม่เป็นไร ตัวอย่างเช่น เช้าวันนี้พนักงานของคุณลืมนำรายงานชิ้นหนึ่งมาส่งให้ แต่มันไม่เร่งด่วนเท่าไร คุณรู้ว่าบ่ายนี้เธอสามารถจะนำมาให้คุณได้ คุณก็อาจจะบอกเธอไปว่า ไม่เป็นไรคุณตุ๊ก ตอนบ่ายค่อยนำมาให้ก็ได้”

คริสจึงถามต่อ “แต่ว่าทำไมคนไทยใช้คำนี้ตลอดเวลา หรือว่าคนไทยไม่มีความรู้สึกอะไรจริง ๆ ผมไม่เข้าใจครับ”

ผมตอบพร้อมรอยยิ้ม “คริส คุณไม่เข้าใจ หรือคุณไม่ยอมรับ กันแน่ครับ”

คริสทำหน้างง ๆ “หมายความว่าอะไรครับ ที่ว่าผมไม่ยอมรับนะครับ”

ผมพูดต่อ “ที่ผมบอกว่าอย่างนั้น เพราะว่าคุณยังใช้กรอบความคิดที่คุณใช้ในประเทศของคุณอยู่นี่ครับ คุณบอกว่าคุณไม่เข้าใจว่าคนไทยไม่มีความรู้สึกเลยหรือจึงพูดคำว่าไม่เป้นไรได้ทั้งวัน คุณกำลังเปรียบเทียบคนไทยกับคนในประเทศคุณ ซึ่งมันคนละบริบทกันนะครับ คุณอาจจะไม่รู้ แต่นี่เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์เรานะครับ ที่มีแนวโน้มเป็นแบบนี้”

คริสเริ่มกระจ่างขึ้น เขาพยักหน้า “เข้าใจแล้วครับ เชิญต่อได้เลยครับ”

ผมจึงสาธยายต่อไปว่า “ผมอ่านหนังสือชื่อ คำ: ร่องรอยความคิดและความเชื่อไทย โดยคุณสุวรรณา สถาอานันท์ และคุณเนื่องน้อย บุณยเนตร มีบทหนึ่งที่เขียนโดยคุณชาย โพธิสิตา เขียนเรื่อง ไม่เป็นไร ไว้อย่างน่าสนใจ เขาบอกว่าสาเหตุแรกที่น่าจะเป็นต้นตอว่าทำไมคนไทยจึงมีแนวคิดไม่เป็นไร น่าจะมาจากการตีความของคนไทยจากคำสอนในศาสนาพุทธ ที่เกี่ยวกับการปล่อยวาง ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากผลของความเกรงใจ

เพราะว่าความเกรงใจนั้นคนไทยใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำที่ทำให้ผู้อื่นเสียความรู้สึก เราจะใช้คำพูดว่า ไม่เป็นไร เพื่อหลีกเลี่ยงให้คนอื่นที่ทำให้เกิดปัญหา ไม่รู้สึกแย่ลงไปกว่าเดิม คุณชายบอกว่านอกจากเกรงใจแล้ว คนไทยยังถูกสอนให้เก็บความรู้สึกไม่พอใจเอาไว้ในใจ ไม่แสดงออกมา แทนที่จะตีโพยตีพายในสถานการณ์ เราถูกสอนทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนว่า ให้ใจเย็น ๆ

ตัวอย่างเช่น พนักงานคนหนึ่งของคุณมาสายเป็นครั้งแรกในที่ประชุมสิบห้านาที ถ้าเธอบอกว่าขอโทษคะ พอดีรถติด คุณก็จะบอกว่าไม่เป็นไร แล้วก็ดำเนินการประชุมไปตามปกติ ความยากก็คือคุณต้องควบคุมอารมณ์ของคุณโดยการไม่แสดงออกมาไม่ว่าจะทางสีหน้าท่าทางก็ตาม

ที่จริงแล้วเราก็มีความรู้สึก แต่เราเลือกที่จะเก็บเอาไว้ไม่แสดงมันออกมา จะชอบหรือไม่ก็ตาม วิธีนี้มันก็ช่วยให้สังคมสงบสุขได้”

คริสจึงซักต่อ “แต่ว่ามันดูเหมือนกับว่าการที่คุณไม่แสดงความรู้สึกที่แท้จริงออกมานั้น มันดูเป็นการเสแสร้ง และดูจะเป็นการไม่ซื่อสัตย์เท่าไรนัก”

ผมตอบว่า “นี่ก็เป็นสิ่งที่คุณตีความกับสถานการณ์ โดยใช้บรรทัดฐานในประเทศของคุณ ซึ่งประเทศของคุณอาจจะมีความเป็นปัจเจกบุคคลสูง คนมักจะแสดงความรู้สึกออกมาได้อย่างเปิดเผย แต่ที่ประเทศไทยนี้ เราเป็นพวกที่คำนึงถึงความรู้สึกของกลุ่ม หรือความคิดเห็นของคนอื่น มีงานวิจัยที่มีชื่อเสียงของ Geert Hofstede จากหนังสือชื่อดัง Culture’s Consequences เขาสำรวจพนักงานกว่า 117,000 คนในบริษัทข้ามชาติแห่งหนึ่ง โดยสำรวจใน 66 ประเทศ งานวิจัยนี้ทำในปีค.ศ. 1967 และ ค.ศ. 1973 จากคะแนนเต็ม 100 นี่คือผลการสำรวจในประเด็นเรื่องความเป็นปัจเจกบุคคลของบางประเทศที่ยกมาให้ดูเป็นกรณีศึกษา

Country Individualism points
Thailand 20
Australia 90
Great Britain 89
France 71
Germany 67
USA 91

แม้ว่างานวิจัยนี้จะทำมาหลายปีแล้วก็ตาม แต่ว่านัยสำคัญของมันก็ยังมีความหมายอยู่ คุณลองดูก็ละกันว่าไทยนั้นมีความเป็นปัจเจกนิยมน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วห้าประเทศดังกล่าว”

คริสสงสัยต่อ “ทำไมคนไทยจึงมีความเป็นกลุ่มก้อนมากเหลือเกิน”

ผมอธิบายว่า “จากหนังสือ คำ: ร่องรอยความคิดและความเชื่อไทย นั้นมีอีกบทหนึ่งที่คุณชาย โพธิสิตาเขียนเกี่ยวกับเรื่องของพรรคพวก คุณชายเขาเขียนไว้ว่า ความแตกต่างในเรื่องพรรคพวกของคนไทยนั้น น่าจะมาจากสังคมแบบจารีตประเพณีในอดีต ซึ่งผมตีความว่าหมายถึงสังคมเกษตรกรรมของเรานั่นเอง กลุ่มมีความสำคัญกว่าบุคคล เพราะว่าบุคคลต้องมีสังกัดเช่น ครอบครัว วงศ์ตระกูล สถาบัน หรือสถานะทางสังคม กลุ่มนี่แหละจะบอกคนอื่นว่าเราเป็นใคร เรามีสิทธิ์ มีสถานภาพเช่นไร และเรามีความสำคัญเพียงใด ถ้าเราไม่มีสังกัด เราก็เป็นบุคคลที่ไม่มีความหมายอะไร ดังนั้นทำให้คนต้องพยายามรักษาสัมพันธภาพกับหมู่เหล่าของตน ต้องพยายามที่จะไม่ให้กระทบกระทั่งความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น ๆ

ผู้เขียนเขาบอกต่อว่า ค่านิยมดังกล่าวทำให้สังคมไทย สร้างเครือข่าย สัมพันธภาพ การช่วยเหลือพวกพ้อง ทั้งในหมู่เอกชนและราชการ

ความเห็นส่วนตัวแล้ว ผมว่านี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บ้านเมืองของเราเดือดร้อน เพราะว่ามันสร้าง double-standards และการคอรับชั่นได้ง่ายมาก

ผมเชื่อว่า สิ่งเหล่านี้น่าจะเคยเกิดในประเทศของคุณเหมือนกัน แต่มันอาจจะนานมาแล้ว อย่าลืมสิว่าประเทศของคุณนั้นปฏิวัติอุตสาหกรรมาหลายร้อยปีแล้ว ในขณะที่ประเทศไทยเรา เมื่อไม่กี่สิบปีก่อน ยังเป็นประเทศเกษตรกรรมอยู่เลย”