เมื่อเลขาเป็นโค้ช

พุทธชาติกำลังจะเกษียณจากบริษัทอเมริกันแห่งนี้ หลังจากที่เธอได้ร่วมงานมากว่าสิบแปดปี ฝ่ายฝึกอบรมจึงจัดให้เธอช่วย Coach แนวทางการทำงานกับหัวหน้าชาวอเมริกันให้นงนุช ซึ่งเป็นเลขาคนใหม่ของเดวิดกรรมการผู้จัดการชาวอเมริกัน

พุทธชาติเริ่มต้นด้วยการเกริ่นว่า “เจ้านายอเมริกันจะยินดีเมื่อคุณเข้าไปพบและรายงานความคืบหน้ามากกว่าจะมาตามจิกถามคุณ เพราะฉะนั้นข้อมูลในงานของคุณต้องแน่น และ ต้องรายงานเป็นระยะ ๆ คุณต้องสามารถนำเสนอข้อมูลเชิงเปรียบเทียบที่เป็นตัวเลข ตัวอย่างเช่นอย่าบอกว่า ดิฉันรู้สึกว่าสินค้า ก.ขายดีมากกว่า ข. แต่นำเสนอว่า จากรายงานการขาย สินค้าก. ขายได้ร้อยตัน สินค้าข. ขายได้ แปดสิบตัน แล้วเสนอการวิเคราะห์บอกนัยสำคัญของตัวเลขไปเช่น เมื่อเปรียบเทียบกับสถิติปีก่อน การส่งเสริมการขายของปีนี้มีประสิทธิภาพมากกว่าค่ะ

การตัดสินใจมักเกิดขึ้นในที่ประชุมดังเราจะได้ยินคำพูดว่า “Brain Storming” กันบ่อย ๆ ฉะนั้นอย่าได้ตกใจว่าทำไมเจ้านายสามารถอยู่ในห้องประชุมได้นานเป็นชั่วโมง ๆ หากคุณต้องมีส่วนในการประชุม เขายินดีที่จะได้ฟังคิดเห็นของคุณมากกว่าการที่คุณเข้าไปนั่งเฉย ๆ อย่าเก็บงำปัญหาเอาไว้โดยไม่รายงานให้เจ้านายคุณทราบด้วยความรู้สึกเกรงใจ และพยายามแก้ไขด้วยตัวเอง จนแก้ไขไม่ได้จึงไปบอก คุณจะพบว่านอกจากปัญหานั้นจะยากเกินแก้ไขแล้ว เจ้านายคุณจะหมดความเชื่อถือในตัวคุณไปเลย คุณจะต้องระวังอย่าให้ผู้บริหารระดับสูงรับรู้ข่าวร้ายเป็นคนสุดท้าย”

นงนุชถามว่า “จากประสบการณ์คนอเมริกันปากหวาน ชมทั้งวัน เขาจริงใจหรือเปล่าคะพี่พุทธ”

พุทธชาติตอบว่า “คนอเมริกันจะแสดงความชื่นชมด้วยการให้รางวัลต่อความสำเร็จในงานแต่ละชิ้นที่ได้รับมอบหมายและจะกระทำทันทีที่งานเสร็จหรืออย่างน้อยก็ในเวลาอันใกล้ ไม่รอให้ถึงโอกาสหรือวาระใด ๆ ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นให้คนทำงานรู้สึกยินดีและรับทราบถึงคุณค่าในงานนั้น ๆ”

นงนุชเสริม “นี่ต่างกับผู้จัดการไทยที่นุชเจอ ส่วนมากไม่ด่าก็ถือเป็นการชมเชยแล้วคะ”

พุทธชาติเสริมต่อ “คนอเมริกันให้ความสำคัญเรื่องสายการบังคับบัญชามากกว่าความอาวุโส ระมัดระวังเรื่องความอ้อมค้อมด้วยความเกรงใจ เมื่อใดที่คุณรู้สึกว่างานที่คุณทำอยู่นั้นไม่ท้าทาย คุณต้องการความก้าวหน้า คุณควรเข้าไปปรึกษาเจ้านายถึงโอกาสที่จะเติบโต เขาจะยินดี และรู้สึกชื่นชม พร้อมมองหาโอกาสให้คุณ แทนที่จะมีความคิดว่าคุณเป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง

อีกประเด็นที่จะขอฝากไว้คือเรื่องการให้ความสำคัญกับครอบครัวและการเป็นส่วนตัวของคนอเมริกัน คุณแทบจะไม่เห็นภรรยาของเจ้านายมาที่ทำงานบ่อยนัก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าภรรยาไม่มีอิทธิพลกับงานของสามีนะ ตรงกันข้ามคุณแทบจะไม่เชื่อเลยว่าภรรยาเจ้านายคุณรู้จักคุณ รู้จักลูกน้องคนอื่น ๆ ของเจ้านายคุณอย่างดี นั่นเป็นเพราะคนอเมริกันให้ความสำคัญกับครอบครัว ภรรยาคือที่ปรึกษา และ กระจกที่ดีที่สุดสำหรับเขา เพราะฉะนั้นคุณอย่าได้ละเลยหากเจ้านายต้องการให้ช่วยในเรื่องการจองตั๋วเครื่องบินให้ภรรยา นัดหมอให้ลูก เขาจะรู้สึกว่าคุณได้ทำให้ความกังวลของเขาหมดไป เพื่อเขาจะได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และก็อย่าลืมรายงานให้เขาได้ทราบด้วยว่าสิ่งที่เขาต้องการให้ช่วยคุณดำเนินไปถึงขั้นไหน หรือมีสิ่งใดติดขัด

เมื่อคุณได้รับเชิญจากคนอเมริกัน ไม่ว่าจะเป็นการเชิญจากบุคคลภายนอก หรือจากคนในองค์กร ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ คุณมีหน้าที่ที่จะต้องตอบรับหรือปฏิเสธการเชิญนั้น พร้อมระบุจำนวนบุคคลที่คุณจะพาไปด้วย มารยาทนี้ครอบคลุมทุกประเภทและทุกโอกาส ไม่ว่าจะเป็นการเชิญประชุม เชิญรับประทานอาหาร เพราะคนอเมริกันไม่ชอบเห็นความประหลาดใจนาทีสุดท้าย ในกรณีที่เป็นการประชุมคุณจะพบว่าเขาจะมีการจัดเตรียมป้ายชื่อไว้ที่โต๊ะ ซึ่งถ้าหากคุณพาลูกน้องไปมากกว่าที่ระบุนอกจากผู้จัดจะได้รับความลำบากแล้ว คนที่คุณพาไปรวมทั้งตัวคุณจะรู้สึกอึดอัด ในเรื่องงานเลี้ยงก็เช่นเดียวกัน คนอเมริกันไม่ชอบให้มีของเหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก ๆ การได้รับการยืนยันถึงจำนวนแขกที่แน่นอนจะทำให้เขาสามารถกำหนดปริมาณอาหาร รวมทั้งกิจกรรมอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี

ขอบอกว่าอย่าแสดงความคิดถึงเจ้านาย หรือ เพื่อนอเมริกันของคุณโดยการไปเยี่ยมเยียนเขาในวันหยุดทั้งที่ไม่ได้นัดหมาย ตามความเข้าใจว่าเป็นการสร้างความตื่นเต้น แล้วก็อย่าหวังว่าเขาจะยินดีวิ่งโผเข้ามาหาคุณพร้อมแสดงความดีใจและยินดีที่ได้เจอ…. ลบภาพนั้นออกไปจากความคิดให้หมด…. กรุณาเลี่ยงการไปพบที่บ้านในวันหยุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไปโดยมิได้นัดหมาย…. เลิกคิดไปเลย เพราะนอกจากเขาจะไม่ประทับใจคุณแล้ว เขายังรู้สึกว่าคุณเป็นคนที่ไม่มีมารยาทเอามาก ๆ การแสดงออกถึงความรัก ต้องการสร้างความประหลาดใจที่ไม่ได้พบกันมานาน คุณสามารถทำได้โดยการนัดเขาและครอบครัวไปทานอาหารเย็น เขาจะปลื้มคุณเป็นที่สุด รวมทั้งการให้ของขวัญก็เช่นเดียวกัน บางครั้งเรายังติดการทำ surprise ด้วยการนำของขวัญไปวางที่โต๊ะทำงาน หรือ ที่เก้าอี้ โดยคิดว่าเขาจะยินดี ทางกลับกันเขาจะรู้สึกอึดอัดมากกว่า คุณควรหาโอกาสเหมาะ ๆ เดินถือเข้าไปให้ด้วยตัวเอง พร้อมบอกว่าเนื่องในโอกาสอะไร คนอเมริกันไม่ชอบรับของขวัญจากใครและให้ของขวัญใครพร่ำเพรื่อ แต่ถ้าเขาให้ ของสิ่งนั้นต้องมีคุณค่า มีความหมาย และสื่อให้เห็นถึงความใส่ใจในรายละเอียด”