สมองกับการโค้ชด้วยคำถาม

ผมเป็นแฟนพันธ์แท้ของการใช้คำถามในการโค้ช ผมเรียนรู้มาจากบรรดานายเก่า ๆ สมัย 25 ปีก่อนตอนทำงานใหม่ ๆ ผมเห็นว่ามันเวิร์ค แต่ยังไม่มีงานวิจัยใดมาสนับสนุน

จนกระทั่งผมมาพบหนังสือ Quiet Leadership โดย David Rock ซึ่งผู้เขียนทำงานโค้ชผู้บริหารเป็นอาชีพ
หนังสือแนะนำหกขั้นตอนที่จะโค้ชคนให้เกิดผลงานคือ

  1. คิดเกี่ยวกับการคิด
  2. ฟังเพื่อค้นหาศักยภาพ
  3. พูดด้วยเจตนาที่จะสื่อความ
  4. ทำให้คนจุดประกายความคิด
  5. สร้างความคิดใหม่
  6. ติดตามผลของความคิด

แนวคิดหลักของหนังสือคือการช่วยให้คนคิดหาคำตอบจากการอำนวยความคิดด้วยการตั้งคำถาม
เขาปูพื้นว่า ในปีพ.ศ. 2548 กว่า 40% ของคนทำงานเป็นคนงานที่ใช้องค์ความรู้ และหากเป็นผู้บริหารระดับกลางขึ้นไปก็เกือบ 100% ทีเดียว คนส่วนใหญ่ถูกจ้างมาให้คิด

จากนั้นเขาก็ยกงานวิจัยเกี่ยวกับสมอง ที่ระบุว่าสมองของคนเรานั้นแต่ละคนไม่เหมือนกัน เสมือนเรามีแผนที่ที่แตกต่างกัน ความคิดหรือความเห็นอะไรที่เวิร์คสำหรับผม ไม่จำเป็นจะเวิร์คสำหรับคุณ หากคุณมีปัญหามา บอกผม ผมรับข้อมูล ประมวลผลในสมองผม แล้วมีคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับสมองผม แต่อาจจะไม่เหมาะกับสมองคุณก็ได้ เหมือนกับเราให้แผนที่กรุงเทพกับคนที่ขับรถในภูเก็ต

เขาบอกว่าสมองเรานั้นถูกสร้างมาคล้ายๆกับการเดินสายคอมพิวเตอร์ เมื่อมีการเดินสายแล้ว ยากที่จะรื้อ แต่เดินสายใหม่จะง่ายกว่า ซึ่งจะทำได้โดยการใช้คำถามช่วยให้คนสร้างแผนที่ของเขาเอง

เดวิดเขียนว่า เมื่อเราพยายามช่วยคิดให้คนอื่น มันใช้พลังงานมหาศาล เราคิดมากเลย แต่กลับได้มาซึ่งคำตอบที่ไม่เหมาะกับเขา

หากมีคนบอกว่า “คุณคิดว่าดิฉันควรทำอย่างไรดีกับ…” “ผมไม่แน่ใจว่าควรจะ…” “ฉันต้องการที่จะ…แต่ไม่อยากจะ…” นี่คือสัญญาณว่าคนต้องการให้คุณช่วยเขาในเรื่องความคิดเห็น

เดวิดไม่ได้แนะนำว่าเราต้องใช้คำถามให้คนคิดทุกกรณี แต่ต้องตรวจสอบกับคนนั้นก่อนว่า เขาอยากให้คุณช่วยอำนวยความคิดเขาด้วยคำถาม หรือต้องการคำตอบสำเร็จรูปจากคุณ ความเห็นส่วนตัวของผมนั้น แม้ว่าเขาจะยืนยันที่จะฟังคำตอบจากเรา เราก็ต้องเลือกดูว่าจะบอกหรือถามเขาดี ซึ่งนั่นถือเป็นศิลปของโค้ชมืออาชีพตัวจริง

หัวใจของหนังสืออยู่ที่ขั้นตอน ทำให้คนจุดประกายความคิด

เขาทดลองวัดคลื่นสมองคนระหว่างงถูกโค้ช แล้วค้นพบโมเดลสี่ขั้น ซึ่งช่วยให้เราสามารถจะมีสิ่งที่จับต้องได้ให้เราสังเกตเวลาที่เราโค้ชคนอื่น สี่ขั้นตอนที่ว่าคือ

  1. รับรู้ปัญหา เมื่อเราเจอปัญหา หน้าเราจะไม่มีความสุข ฉงน ตาอาจจะเอียง เรารู้สึกว่าตัน อาการนี้ทางสมองก็คือการที่เรามีแผนที่ที่ขัดแย้งกัน อาจจะคิดว่าค่านิยมขัดกัน ทรัพยากรมีจำกัด สมองไม่แน่ใจว่าจะใช้แผนที่ชุดไหนดี หรือจะต้องสร้างแผนที่ใหม่อย่างไรดี
  2. ไตร่ตรอง สีหน้าเราจะเปลี่ยน ตาเราอาจชำเลืองขึ้นด้านบนหรือด้านข้าง สีหน้างงงวย เม้มปากขึ้นด้านบนเพราะกำลังไตร่ตรองอย่างลึกซึ้ง และอาจเงียบไปพักหนึ่ง
  3. จุดประกาย สีหน้าแววตามีประกาย เกิดอาการ ยูเรก้าแบบอาร์คีมีดีส สมัยกรีกโบราณ ตอนที่เขาค้นพบคำตอบสำคัญระหว่างอาบน้ำจนวิ่งล่อนจ้อนออกมาด้วยความยินดี
  4. จูงใจ ตามองไปข้างหน้าอย่างมุ่งมั่น และพร้อมจะกระโดดลงมือทำในสิ่งที่คิดได้ ตาชำเลืองมองไปทางซ้าย
    ในช่วงระหว่างขั้นตอนการไตร่ตรองและการจุดประกายนั้น หากเราได้ค้นพบคำตอบ สมองเราจะส่งคลื่นอัลฟ่าออกมาก่อนจะได้คำตอบ คลื่นนี้มีผลต่อการสร้างเซโรโทนิน ซึ่งเป็นสารเคมีที่ช่วยทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย และบรรเทาอาการเจ็บปวด

และเมื่อเรา “ปิ๊ง” หรือจุดประกาย สมองจะส่งคลื่นแกมม่าอย่างแรงไปทั่วสมอง คลื่นแกมม่านี้มีผลต่อการพัฒนาแผนที่ใหม่ในสมอง เมื่อเรา “ปิ๊ง” เราได้สร้างแผนที่ขนาดใหญ่แผ่นใหม่ซึ่งเชื่อมต่อแผนที่เดิมหลายๆแผ่นขึ้นมา ซึ่งมันช่วยสร้างพลังงานอย่างมากมายในสมองของเรา คิดดูละกันว่าหากเราทำให้พนักงาน 1,000 คน “ปิ๊ง” วันละครั้งแทนที่จะเป็นปีละครั้ง เราจะทำให้ที่ทำงานน่าทำงานมากขึ้นเพียงใด