มองคนละมุม

มองคนละมุม

เล็กไม่ใช่คนที่เพื่อนชาวไทยชื่นชมเธอเท่าไรนัก  ในฝ่ายงานที่เธอทำงานอยู่  เธอไม่ค่อยทำงานของเธอมากเท่าไร  โต๊ะของเธอจะรกรุงรัง  คำชมเชยที่เธอได้รับ  ส่วนใหญ่มาจากการที่เธอนำเอาผลงานของเพื่อน  ไปนำเสนอในที่ประชุม  โดยอ้างว่าเธอทำ  

ในขณะที่เพื่อนในทีมงานเธอส่วนใหญ่ทำงานล่วงเวลาดึกดื่นเพื่อให้โครงการเสร็จตามกำหนดเวลา  เล็กมักจะกลับบ้านก่อนคนอื่นเสมอ  คติพจน์ของเธอก็คือ  ใช้สมองแทนการใช้แรงงานหรือที่ฝรั่งบอกว่า  ‘Work smart not work hard’.  

ในที่ประชุมเธอมักจะกระตือรือร้นมีส่วนร่วมอย่างมาก  เมื่อใดก็ตามที่โจผู้จัดการชาวต่างชาตินำเสนอแนวคิดอะไรก็ตาม  หากเธอเห็นด้วยเธอจะสรุปประเด็นหลักกลับไป  แทนที่จะพยักหน้าแบบคนส่วนใหญ่ทำเพียงอย่างเดียว  บางครั้งเธอก็เสนอความคิดเห็นเพิ่มเติมโดยปราศจากความกังวลใจว่าจะหน้าแตก  เธอแสดงความกล้าหาญด้วยการมีความเห็นที่ขัดแย้งกับโจเมื่อใดก็ตามที่เธอคิดว่าเธอมีเหตุผลเพียงพอ  นอกจากนี้เธอยังไม่อายจะถามเมื่อเธอสงสัยหรือไม่เข้าใจ  โจถูกชะตากับเล็กอย่างมาก  โจคิดว่านอกจากเธอจะพูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่วแล้ว  เธอยังมีความกล้าแสดงออกอย่างเหมาะสมอีกด้วย  

ในทางตรงกันข้าม  เพื่อนร่วมงานของเธอกลับมองเธอในแง่ร้ายด้วยความหมั่นไส้  เธอคือแกะดำในฝูงนั่นเอง                              

หลังการประชุมในวันนี้  โจไปทานอาหารเย็นกับปีเตอร์  ผู้บริหารต่างชาติในอีกฝ่ายงานหนึ่ง                       

โจเล่าให้ปีเตอร์ฟังว่า  “ปีเตอร์  ผมพบอัญมณีในฝ่ายงานผมแล้ว  เธอชื่อคุณเล็ก  เธอเฉลียวฉลาดที่สุดในหกคนไทยที่ทำงานกับผม  เธอมีส่วนร่วมในที่ประชุม  ถามคำถาม  เถียงกับผม  ผมนับถือเธอจริง ๆ  ในขณะเดียวกับอีกห้าคนท่าทางไม่ค่อยฉลาดเท่าไร  ผมว่าพวกเขาคงไม่ค่อยรู้เรื่องและเข้าใจผมว่าผมสื่อสารอะไรกับพวกเขาอยู่  ผมยังสงสัยตะหงิด ๆ อยู่เลยว่าพวกเขารู้เรื่องงานที่เขาทำอยู่หรือเปล่าหนอ”

ปีเตอร์ถามต่อ  “คุณประเมินได้อย่างไรว่าคนของคุณเข้าใจคุณมากน้อยเพียงใด”      

โจตอบทันที  “ถ้าเขายิ้มและนั่งเงียบ  ผมเหมาเอาว่าเขาไม่เข้าใจผมหรอก  ที่จริงแล้วผมว่าการยิ้มโดยไม่มีเหตุผลของคนไทยเป็นเรื่องที่ไร้สาระจริง ๆ  ไม่มีเหตุผลอะไรก็เอาแต่ยิ้ม

สำหรับการที่ผมประเมินว่าเข้าใจหรือไม่นั้น  ผมก็จะดูจากการที่เขาทบทวนหรือสรุปประเด็นหลัก ๆ กลับมายังผม  หรือไม่ก็ถามคำถามเพื่อให้ผมได้แจงแจงให้ชัดเจนขึ้น  มันเป็นไปไม่ได้หรอกครับที่คนสองคนจะมีความเห็นเหมือนกันโดยไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย”

ปีเตอร์จึงแนะนำกลับไปว่า  “โจผมว่าคุณกำลังตกสู่กับดักที่ผู้บริหารต่างชาติส่วนใหญ่เจอกันมาก็คือ  คุณประเมินคนจากการกล้าแสดงความคิดเห็นและทักษะในการสื่อสารภาษาอังกฤษเท่านั้น  คุณมองว่าคนที่เงียบคือคนที่ไม่รู้เรื่องหรือไม่ค่อยฉลาด  เป็นการมองจากเปลือกนอกมากเกินไป  แล้วผลงานของคุณเล็กละเป็นไงบ้าง”

โจตอบ  “ผมคิดว่าการทำงานของเธอน่าจะโอเคนะ  ผมเจอเธอแต่ในห้องประชุมเท่านั้น  เธอเป็นคนเดียวที่นำเสนอผลงานในห้องประชุม  ผมเดาว่าเธอคงทำเองทั้งหมด  เพราะหากเธอกล่าวอ้างขึ้นมาลอย ๆ  เพื่อนคนไทยคนอื่นที่นั่งในที่ประชุมคงไม่ยอมแน่ ๆ  ที่อยู่ ๆ  จะมีคนอื่นก็มาฉกฉวยเครดิตไป”

ปีเตอร์แย้ง  “ผมว่าการที่คุณไม่ได้เห็นเธอทำงานด้วยตาตนเองโดยดูจากที่ประชุมเท่านั้น  คุณอาจจะผิดก็ได้  เพื่อนเธออาจจะเป็นคนทำก็ได้  คุณน่าจะรู้นะว่า  คนไทยไม่ชอบการเผชิญหน้า  สมมติว่าเล็กขโมยผลงานของเพื่อนมานำเสนอในที่ประชุมต่อหน้าเจ้าตัวก็ตามทีเหอะ  พวกเขาก็จะไม่ฉีกหน้ากันหรอก  ยิ่งถ้าเล็กของคุณเป็นคนกล้าแสดงออกด้วยแล้ว  เพื่อน ๆ คงขยาดที่จะตอแยด้วยหรอกนะ            

สำหรับเรื่องการยิ้มของคนไทยก็อีกเรื่องหนึ่ง  ประเทศของคุณอาจจะต้องมีเหตุผลคนจึงจะยิ้มกัน  แต่ในสังคมไทยเขาก็มีเหตุผลของเขา  สังคมไทยเป็นสังคมที่เน้นความความสัมพันธ์  พวกเขามีวัฒนธรรมที่สวยงามและเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน  เหตุผลที่เขายิ้มให้กันเพื่อทำให้บรรยากาศในที่ประชุมผ่อนคลายไม่ตึงเครียด  คุณน่าจะดีใจนะที่พนักงานของคุณอารมณ์ดีนะ  ผมว่ามันช่วยเพิ่มประสิทธิผลของงานน่าดูเลย”

ในเวลาเดียวกันที่ร้านอาหารฝั่งตรงข้าม  ทีมคนไทยห้าคนกำลังคุยเรื่องเดียวกันอยู่  แต่เป็นคนละมุมมอง

เดช  หนึ่งในสมาชิกกล่าวขึ้นว่า  “ผมไม่ชอบเล็กเลย  เธอไม่ทำงานอะไร  เอาแต่นำเสนอผลงาน  ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ผลงานของเธอ  เป็นผลงานคนอื่นเสียส่วนใหญ่  เก่งก็ภาษาอังกฤษนั่นแหละ  แล้วก็หน้าหนาเป็นพิเศษ  พูดได้ทั้งวันในที่ประชุม”

นารีกล่าวขึ้นว่า  “ฉันเองเฝ้าคิดเรื่องเล็กมาระยะหนึ่งแล้วนะ  ทีแรกก็เห็นแบบเดชนี่แหละ  แต่พอลองนั่งทบทวนด้วยใจเป็นกลางจริง ๆ แล้วก็พบว่า  ที่จริงเล็กเขาก็แสดงพฤติกรรมตามที่โจคาดหวังจากพวกเราในที่ประชุม  เพียงแต่ว่าเธออาจจะขโมยผลงานเพื่อนมากไปหน่อย  ที่จริงพวกเราต่างหากที่ไม่มีพฤติกรรมตรงตามที่โจเขาคาดหวัง  ก็เลยทำให้โจฟังแต่เล็ก  ฉันว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องทวงเครดิตคืน  พร้อมกับปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ในที่ประชุมให้ตรงกับที่นายเขาหวังไว้”

เดชแย้งขึ้นมาว่า  “แต่มันยากสำหรับผมนะครับ  ก็ผมเป็นแบบนี่มาตั้งสามสิบปีแล้ว  ผมจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร”

นารีตอบว่า  “เราเปลี่ยนแปลงได้นะ  แต่ต้องเปลี่ยนจากภายใน  สิ่งที่เราสามารถทำได้ก็คือ  เราต้องขยายความเชื่อของเรา  เราอาจจะยังคงความเป็นไทยของเราไว้  ในขณะเดียวกัน  เราก็เพิ่มความเป็นสากล  การกล้าแสดงออก  ความเปิดเผย  กล้าขัดแย้ง  และเผชิญหน้าในเรื่องงาน  หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ ฝึกพฤติกรรมใหม่นี้  ถ้าเล็กเขาทำได้  เราก็ต้องทำได้  เราน่าจะทำได้ดีกว่าด้วยซํ้าไปเพราะเราเป็นคนที่ลงมือทำงานจริง ๆ  ไม่ได้แอบอ้างผลงานของคนอื่น  เพียงแต่เปลี่ยนสไตล์การสื่อสาร  และการแสดงออกในที่ประชุมเท่านั้นแหละ”