สัปดาห์ที่แล้วผมดูรายการแม่ไม้นักบริหารโดยคุณจันทนา สุขุมานนท์ EVP การตลาดและการขาย จาก บริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) เธอนำเสนอได้อย่างน่าสนใจโดยเฉพาะในสมการ: P = p – i
สมการนี้มาจากหนังสือ The inner game of work โดย W. Timothy Gallwey
“Performance(P) = potential(p) – interference(i).
ผลงาน = ศักยภาพ – ตัวขัดขวาง
ซึ่งตัวขัดขวางในที่นี้ อาจหมายถึง ความไม่มั่นใจในตัวเอง สมมติฐานผิด ๆ กลัวความล้มเหลว หรือความเชื่อซึ่งทำให้คนผู้นั้นไม่สามารถใช้ศักยภาพของเขาให้ได้ผลงานออกมาอย่างเต็มที่”
ในระหว่างสัปดาห์ผมเล่าเรื่องสมการนี้ให้โค้ชชี่หลายท่านฟัง และทุกท่านก็ประทับใจกับความเรียบง่ายของสมการนี้
ผมขอยกตัวอย่างของตนเอง หลายปีมานี้ผมใช้ศักยภาพเพียง 80% ในการนำเสนอ แล้วตอนนี้ผมก็เขียนหนังสือเกี่ยวกับการนำเสนอเสียด้วย อุปสรรคสำหรับผมคือการมีสมมติฐานผิด ๆ คือผมอยากนำเสนออย่างไร้ที่ติ ซึ่งความเชื่อนี้เป็นอุปสรรคทำให้ผมไม่สามารถใช้ศักยภาพได้เต็มร้อย
ผู้บริหารระดับสูงชาวไทยจำนวนมากมีปัญหาเช่นนี้ แม้พวกเขาได้รับการอบรมด้านการนำเสนอมาแล้วก็ตาม ดังนั้นประเด็นไม่ได้อยู่ที่ “ความรู้”
แล้วพวกเขาควรทำอย่างไร
ผู้นำควรเข้าใจว่าอะไรเป็นตัวขัดขวางทำให้ลูกน้องไม่สามารถใช้ศักยภาพได้เต็มที่ แล้วโค้ชพวกเขา
กรณีของผม ผมโค้ชตนเองโดยการท้าทายความเชื่อว่า การนำเสนอให้ไร้ที่ติเลยนั้นเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล แล้วหลักฐานคืออะไร มาจากหนังสือ การนำเสนอมีพลังอย่างมืออาชีพ ของผมนั่นเอง หนังสือพูดถึง 6 ทักษะใน 6 บท แต่ละบทใช้ตัวอย่างจากนักนำเสนอที่เก่งต่าง ๆ กันไปในแต่ละด้าน เพราะผมไม่สามารถหานักนำเสนอที่เก่งหมดทั้งหกทักษะ ทำให้ตระหนักได้ว่าความเชื่อนั้นไม่สมเหตุสมผล
ทางออกคือใส่ความเชื่อใหม่เข้าไป คือ ผมจะเตรียมตัวและพยายามให้ดีที่สุด ถ้าผลออกมาไม่ดีก็ไม่เป็นไร
จากหนังสือ Cognitive Therapy โดย Judith S. Beck ให้รายการความเชื่อที่ไม่สมเหตุสมผลของ Aaron T. Beck บิดาแห่ง Cognitive therapy ดังนี้
- ยอมหักไม่ยอมงอ: มองเหตุการณ์ต่าง ๆ เป็นสองกรณีเท่านั้น ไม่มีสายกลาง เช่น “ถ้าไม่ประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์แบบ ฉันก็ล้มเหลว”
- วิตกจริต: คาดการณ์อนาคตในเชิงลบแง่เดียว เช่น “เวลาโกรธฉันจะไม่สามารถคิดหรือทำอะไรได้เลย”
- มองข้ามสิ่งดี ๆ : บอกตนเองว่าประสบการณ์ดี ๆ เชิงบวกต่าง ๆ ไม่มีความหมาย
- ใช้อารมณ์ตัดสิน: คิดว่าบางเรื่องเป็นจริงเพราะคุณ “รู้สึก” ถึงได้อย่างแรงกล้า (ที่จริงคือความเชื่อ) โดย มองข้ามหลักฐานต่าง ๆ ที่มี เช่น “ฉันสามารถทำอะไรดี ๆ ได้มากมาย แต่รู้สึกว่าตนเองนั้นล้มเหลว”
- ตีตรา: คุณตีตราให้ตนเองและผู้อื่นโดยไม่คำนึงถึงหลักฐานที่สมเหตุสมผลและนำไปสู่บทสรุปที่ก่อหายนะได้ เช่น “ฉันเป็นผู้แพ้ หรือ เขาเป็นคนไม่ดี”
- ย่อ/ขยาย: เวลาที่คุณประเมินตนเอง ผู้อื่น หรือสถานการณ์ คุณจะมุ่งความสนใจ(ขยาย)ไปที่ข้อเสีย และลดความสนใจจากเรื่องที่เป็นบวก(ย่อ) เช่น “ผลประเมินปานกลางแสดงให้เห็นว่าฉันไม่ดีพอ หรือ ฉันได้คะแนนมากเพราะฟลุ๊ก”
- จงใจมองข้าม: ให้ความสำคัญกับความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ มากกว่าที่จะมองภาพรวม เช่น “ไม่เก่งอังกฤษฉันจึงดูโง่ ทั้ง ๆ ที่ทำงานอื่น ๆ เป็นเลิศ”
- ทึกทักความคิดผู้อื่น: คิดว่าคุณรู้ว่าผู้อื่นคิดอย่างไร โดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริง เช่น “เขาคิดว่าฉันไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับงานโครงการนี้”
- เหมารวม: คุณสรุปในแง่ร้ายเกินความเป็นจริง เช่น “(ฉันอึดอัดจนทนไม่ได้เมื่ออยู่ในห้องประชุม) ฉันคบกับคนแบบนี้ไม่ได้”
- เป็นเพราะฉัน: คุณคิดว่าผู้อื่นแสดงออกเชิงลบเฉพาะกับคุณ เช่น “เขาแสดงออกอย่างห้วน ๆ กับฉันเพราะฉันทำบางอย่างไม่ดี”
- การตั้งเงื่อนไข: คุณคิดว่าคุณและผู้อื่น “ควร” หรือ “ต้อง” ทำตัวอย่างไร และประเมินสูงไปว่าจะเกิดผลเสียหากไม่สามารถทำตามนั้นได้ เช่น “ฉันแย่มากที่ทำพลาด ฉันต้องทำให้ดีที่สุดเท่านั้น”
- มองแคบ: เห็นแต่แง่ลบด้านเดียว เช่น “ครูของลูกฉันไม่เคยทำอะไรถูกต้องเลย ช่างจับผิด ไม่อ่อนโยน และสอนไม่เก่ง
ดังนั้น เราจึงควรหมั่นสังเกตความคิดของเรา อย่าปล่อยให้ “ความเชื่อที่ไม่สมเหตุสมผล” มาครอบงำเรา จนมีผลต่อการแสดงพฤติกรรมของเราได้