ในการโค้ชผู้บริหารแบบตัวต่อตัว ผมจะเริ่มด้วยการสัมภาษณ์คนรอบตัวหกคนคือ นาย เพื่อนร่วมงานระดับเดียวกัน เลขาฯ และลูกน้องสามคน โดยสัมภาษณ์เดี่ยวคนละหนึ่งชั่วโมง แล้วนำผลมาสรุปให้ผู้ที่จะถูกโค้ช (Coachee – โค้ชชี่) ฟัง โดยรวบรวมเป็น 3 S คือ Strength (จุดแข็ง) Stop (สิ่งที่ควรเลิกทำ) Start (สิ่งที่ควรเริ่ม)
วันนี้ผมจะสรุป 3S ให้ชาร์ล โค้ชชี่คนใหม่
หลังจากสรุปจุดแข็งให้เขาฟัง ผมเริ่มเข้าเรื่องที่คนรอบๆตัวเขาอยากให้เขาเลิก
“ชาร์ล คุณทราบจุดแข็งซึ่งมีหลายข้อครบแล้ว อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครสมบูรณ์ จนไม่มีจุดอ่อน สิ่งที่คุณได้ยิน อาจจะยากหน่อยสำหรับคุณที่จะยอมรับ ผมอยากให้คุณเปิดใจให้กว้างเท่าที่จะเป็นได้ ทำได้ไหมครับ” ผมรอคำตอบ
ชาร์ลผงกศรีษะ สีหน้ามีความใจเย็น
ผมพูดต่อ “คนรอบตัวคุณ มองว่าคุณไม่ยอมรับเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นจากคุณ คุณมีแนวโน้มที่จะโทษคนอื่น”
ชาร์ลเงียบไปสักครู่ หลังจากนั้นเขาก็เริ่มอธิบายด้วยการชักแม่น้ำทั้งห้าเพื่อปกป้องตัวเอง เขาใช้เวลาสิบนาทีในการแก้ต่างจนจบ
เมื่อเขาพูดจบลง ผมจึงพูดต่อ “ชาร์ล คุณมีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับสิ่งที่คนรอบตัวบอกผมมาก่อนเลย ผมอยากจะเล่าเรื่องจากหนังสือชื่อ Leadership Therapy (การพัฒนาภาวะผู้นำโดยนักจิตวิทยา) ของ Anna Rowley
แอนนาเป็นนักจิตวิทยาที่สำนักงานใหญ่ของไมโครซ๊อฟท์มาสิบสี่ปีแล้ว เธอช่วยให้ผู้บริหารที่นี่ได้ใช้ศักยภาพเต็มที่จากการให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่มย่อย
ในหนังสือเธอเล่าถึงผู้บริหารที่ชื่อบ๊อบ ซึ่งเธอไปสังเกตการทำงานกับบ๊อบหนึ่งวัน และเก็บข้อมูลจากลูกน้องเขา หลังจากนั้นเธอมาบอกกับบ๊อบว่าสิ่งที่คนอยากให้เขาหยุดคือการส่งสัญญาณแบบขัดแย้งกันในตัวเอง
บ๊อบมักจะบอกว่า “นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าพวกเราน่าจะทำ แต่มันแค่ความเห็นของผมนะคุณจะทำแบบอื่นก็ได้ หรือ ผมคิดว่าวิธีนี้ดีมากเลย แต่คุณอาจจะมีวิธีอื่นที่ดีกว่าก็เป็นได้
พฤติกรรมนี้ทำให้คนไม่ศรัทธาภาวะผู้นำของบ๊อบ ในระหว่างการโค้ชบ๊อบบอกแอนนาว่าน่าจะมาจากตอนเด็ก ๆ เขาสังเกตว่าแม่เขาซึ่งเก่งกว่าพ่อมาก มักจะพยายามรักษาหน้าพ่อด้วยการพูดในทำนองว่า นี่ความเห็นแม่นะ แต่ว่าพ่ออาจจะมีความคิดที่ดีกว่าแม่ก็ได้
ชาร์ลคุณอาจจะมีประสบการณ์ในวัยเด็กอะไรที่อาจจะทำให้คุณต้องปกป้องตัวเองมากเกินไปหรือไม่”
เขาเงียบไปสักพัก แล้วพูดออกมาว่า “ตอนผมแปดขวบ ผมตกซ้ำชั้น ผมร้องไห้ไปบอกพ่อว่า ผมโง่ที่สุดในชั้น พ่อปลอบผมว่า ชาร์ลลูกเป็นเด็กฉลาด ที่ลูกซ้ำชั้นนะเพราะพ่อชอบเอาของขวัญไปให้ครูลูก ครูเลยอยากให้เธออยู่ต่ออีกปี จะได้ของขวัญจากพ่อต่อไปไง
ผมเชื่อพ่อสุดหัวใจเลย มันอาจจะทำให้ผมรู้สึกว่าเมื่อผมทำอะไรพลาดนั้น คนอื่น ๆ อาจจะเป็นสาเหตุแบบนี้ก็ได้ ผมควรจะแก้ไขอย่างไรดีครับ”
“ผมขอชมคุณนะชาร์ลที่กล้ายอมรับความจริงข้อนี้” ผมพยายามรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของเขา “คุณคิดว่าจะทำอย่างไรดีครับ”
“เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ผมควรใจกว้างมองอย่างเป็นกลาง และมองดูตัวเองก่อนว่าอาจจะเป็นสาเหตุก็ได้”
“ดีครับ เราเป็นปุถุชน การทำผิดคือการเรียนรู้ ถ้าเราทำถูกเสียส่วนใหญ่ และมีพลาดบ้าง ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร ในทางกลับกันหากผิดและคุณรู้ว่าตนเองเป็นต้นตอ การแก้ไขจะทำได้รวดเร็วขึ้นเยอะ
ในหนังสือยังมีคำแนะนำดี ๆ อีกมาก
แอนนามีแนวทางคำถามที่ช่วยให้ผู้บริหารได้ตรวจสอบความเชื่อของตนเอง เช่น
- จากประสบการณ์ชีวิตของคุณ มีช่วงไหนที่เกิดเหตุการณ์ที่มีผลอย่างมากต่อชีวิตคุณบ้าง
- ทำไมมันจึงมีนัยสำคัญ
- ในสถานการณ์นั้น ๆ มันบีบบังคับให้คุณต้องตัดสินใจอย่างไรลงไป
- คุณได้เรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับตัวคุณเอง
- ประสบการณ์ในอดีต ส่งผลอย่างไรกับภาวะผู้นำของคุณในปัจจุบัน
- คุณให้คุณค่ากับสิ่งใด คุณมีความเชื่อในสิ่งใด
แอนนายังมีบทหนึ่งแนะนำผู้อ่านให้เป็นนักจิตวิทยาปรึกษาตัวเองด้วยครับ ลองไปหาอ่านดูครับ”