การเสนอความคิดสร้างสรรค์ในที่ทำงาน

บทความ: โค้ชเกรียงศักดิ์ นิรัติพัฒนะศัย
ภาพ: Kampus Production

“โค้ชเกรียงศักดิ์ครับ เจ้านายบอกให้ผมหาไอเดียใหม่ๆมานำเสนอแต่พอเสนอไปทีไรก็ถูกตีกลับ ผมควรทำอย่างไรดีครับ”

“คุณระฆัง จากหนังสือ Influence without authority โดย Allan R. Cohen และ David L. Bradford บอกว่าอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย คือ

  • ไอเดียนี้ได้รับการไตร่ตรองดีมากน้อยเพียงใด
  • คุณนำเสนอไอเดียนี้อย่างไร คุณระบุถึงประเด็นที่เจ้านายกังวลใจหรือไม่
  • การตอบรับของเจ้านายออกไปตามลักษณะที่เป็นสไตล์ของเขา หรือตามคุณภาพไอเดียของคุณ เขาตีกลับไอเดียของคุณจริงๆ หรือเป็นวิธีที่เขาใช้ในการตรวจคุณภาพของไอเดียของคุณ

เรามาดูกันทีละข้อนะครับ

ผู้เขียนแนะนำให้ทบทวนตนเองโดยใช้แนวทางต่อไปนี้

เจ้านายของคุณชอบไอเดียที่ได้รับการไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้น คุณควรพิจารณาไอเดียนั้นร่วมกับเพื่อนร่วมงานท่านอื่นๆก่อนเพื่อให้มั่นใจว่าไอเดียนี้สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง เพราะคุณทราบจากประสบการณ์อยู่แล้วว่าเจ้านายมักจะไม่เห็นด้วยกับไอเดียใหม่ๆเสมอ ดังนั้นจึงไม่ควรนำเสนอไอเดียใดที่ยังไม่ได้รับการคิด วิเคราะห์และมั่นใจว่าจะให้ผลลัพธ์ที่ดี”

“ผมสารภาพเลยว่า กว่าครึ่งของไอเดียต่างๆที่เสนอไป ผมไม่ได้ไตร่ตรองให้ดีก่อน ผมจะทำตามที่หนังสือแนะนำ

แล้วอีกครึ่งหนึ่งของไอเดียที่ผมไตร่ตรองมาอย่างดีแล้วล่ะครับ”

“คุณระฆัง จากประสบการณ์ที่ทำงานร่วมกับเจ้านายคุณมาหลายปี สาเหตุอะไรที่ทำให้เขาต่อต้านไอเดียใหม่ๆที่ดี”

“มีสองสาเหตุครับ

  • ความสามารถในการนำเสนอไอเดียนั้น
  • ไอเดียนั้นเพิ่มงานให้แก่เจ้านายหรือไม่”

“ผู้เขียนเสนอใว้สามทางออก คือ

  • ถ้าเจ้านายคุณงานล้นมือ มีสิ่งใดบ้างที่คุณสามารถช่วยได้ เพื่อช่วยแบ่งเบา คุณสามารถคิดและทำงานเพิ่มเกี่ยวกับไอเดียที่จะนำเสนอได้หรือไม่ เพื่อแสดงให้เห็นว่าคุณได้คิดจนทะลุประโปร่งแล้ว และคุณสามารถรับงานอะไรมาทำเพิ่มเติมได้เพื่อทำให้ไอเดียนี้ได้รับการลงมือทำได้ง่ายยิ่งขึ้น
  • คุณสามารถวิเคราะห์ วิ่งเต้นชักชวน หาแนวร่วมที่ให้การสนับสนุน เพื่อทำให้ไอเดียของคุณน่าดึงดูดใจมากขึ้นสำหรับเจ้านายได้หรือไม่
  • ค้นหาว่างานส่วนใดของเจ้านายที่คุณมีทักษะสูงทำได้ดีกว่าเจ้านายและสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ หรืออาจเลือกงานของเจ้านายที่คุณอยากเรียนรู้ก็ได้ การทำแบบนี้เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับข้อเสนอไอเดียใหม่ของคุณ ถ้าคุณคิดอย่างพันธมิตรร่วมทุกข์ร่วมสุขกับนาย  ไม่ใช่คิดว่าตนเองเป็นเพียงลูกน้องที่รอคำสั่ง คุณจะสามารถหาหนทางที่ช่วยเจ้านายของคุณได้ในที่สุด”

“โค้ชครับ แล้วถ้าผมนำเสนอไอเดียได้ไม่ดีล่ะครับ”

“ขึ้นอยู่กับสไตล์ของเจ้านาย เจ้านายบางท่านอาจใม่ใส่ใจมากในวิธีการนำเสนอ ถ้าเขามีความเชื่อใจและเชื่อมั่นในตัวคุณอยู่แล้ว องค์กรแบบไทยๆของเรามีเหตุการณ์นี้เป็นจำนวนมากเพราะเจ้านายลูกน้องมักทำงานร่วมกันมาเป็นเวลาหลายปี

เจ้านายบางคนมีอคติต่อ เจนวาย เพราะพวกเขาเองอยู่ในรุ่นเบบี้บูมเมอร์ที่ไต่เต้าในองค์กรมาแบบ “ไม่เจ็บ ก็ไม่ได้เรียนรู้” จึงคาดหวังว่าทุกๆคนจะต้องเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี เขียนรายงานไม่มีคำผิด และนำเสนอไอเดียที่ปราศจากความเสี่ยงใดๆ”

“แล้วถ้าเจ้านายไม่ใว้เนื้อเชื่อใจผมล่ะครับ”

“ด้วยสาเหตุอะไรครับ”

“อาจเป็นเพราะ ท่านคิดว่าผมตำหนิท่านครับ”

“คุณทำอะไรให้เจ้านายคิดเช่นนั้นครับ”

“เวลาผมนำเสนอ ผมมักตำหนิเกี่ยวกับการย่ำอยู่กับที่ บางครั้งก็ตำหนิคนที่รับตำแหน่งเดียวกับผมคนก่อน หรือพูดอ้างอิงถึง Best Practice จากองค์กรอื่น”

“อะไรที่ทำให้คุณพูดเช่นนั้นครับ”

“ผมเชื่อว่าคลื่นลูกใหม่จะมาแทนที่คลื่นลูกเดิมครับ”

“คุณได้ความเชื่อนี้มาจากใหนครับ”

“ตอนผมทำปริญญาเอก อาจารย์ทุกๆท่านพูดประโยคนี้ทุกวัน”

“แล้วคุณคิดว่าเรื่องนี้เป็นความจริงเสมอไปหรือไม่”

“ไม่ครับ ไม่มีอะไรที่จะเป็นจริงได้ตลอดไป”

“คุณระฆัง พฤติกรรมของเรามาจากความคิด ความคิดมาจากความเชื่อ ความเชื่อมาจากประสบการณ์ ในกรณีนี้ความเชื่อของคุณทำให้คุณแสดงออกอย่างไม่เหมาะสมกับเจ้านาย คุณคิดว่าความเชื่อใดที่น่าจะสามารถใช้แทนความเชื่อเดิมได้บ้างครับ”

“ปกติแล้ว วิธีการใหม่ๆ ก็มักจะมาแทนที่วิธีเดิมๆ อย่างไรก็ตามบางวิธีที่ทำมานานแล้วก็ยังใช้ได้ดี สามารถใช้ต่อไปได้ เราไม่ต้องเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างในคราวเดียว มนุษย์มีวิวัฒนาการ เราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ทีละน้อยๆ เรายังคงเห็นคุณค่าของสิ่งดีๆทีทำมาและแทนที่สิ่งเก่าๆที่ไม่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน”

“คุณจะย้ำความเชื่อใหม่นี้กับตนเองอย่างไรครับ”

“ผมนั่งสมาธิทุกเช้าครับ ผมจะย้ำความเชื่อนี้เป็นเวลาหนึ่งเดือน”

“ลองดูครับ แล้วหนึ่งเดือนให้หลังเรามาติดตามผลกัน”