ปัญหาอยู่ที่การบริหารเวลาจริงหรือไม่

บทความโดย: โค้ชเกรียงศักดิ์ นิรัติพัฒนะศัย
ภาพ: iStock

“คุณเกรียงศักดิ์ ผมต้องการความช่วยเหลือเพราะมีงานล้นมือ ช่วยโค้ชผมเรื่องการบริหารเวลาหน่อยครับ”

“คุณสุรัตน์ ก่อนที่จะสรุปว่าต้นเหตุของปัญหามาจากการบริหารเวลา ผมขอถามคำถามก่อนจะได้ใหมครับ”

“เชิญครับ”

“เล่าให้ฟังเกี่ยวกับงานที่ล้นมือของคุณหน่อยครับ”

คุณสุรัตน์เล่าสถานการณ์

“กี่เปอร์เซ็นต์ของงานที่คุณทำเป็นงานของลูกน้องครับ”

“ครึ่งๆครับ”

“แล้วทำไมคุณจึงทำงานของพวกเขา”

“เพราะพวกขาทำได้ไม่มีประสิทธิภาพ”

“มีลูกน้องของคุณกี่คนที่ทำงานไม่ได้ประสิทธิภาพ”

“สองจากหกคนครับ”

“เพราะอะไรผู้อำนวยการสองท่านนี้จึงทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ”

“ผมคิดว่าพวกเขาไม่เหมาะกับหน้าที่ปัจจุบันครับ”

“คุณเริ่มสังเกตว่าพวกเขาไม่เหมาะกับหน้าที่ตั้งแต่เมื่อไหร่ครับ”

“หกเดือนที่แล้วครับ หลังจากที่เราควบรวมกิจการกับอีกบริษัทหนึ่ง”

“อะไรจะเกิดขึ้นถ้าคุณยังทำอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ”

“ผมคิดว่าผู้อำนวยการสองท่านนี้รวมถึงผมเองคงจะหมดแรงเพราะปริมาณงาน  และคงหมดไฟในที่สุด”

“ถ้าทราบเช่นนี้แล้วคุณควรทำอย่างไร”

“ผมต้องหาคนที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมมาแทน อ้อ  สรุปแล้วนี่ไม่ใช่เรื่องการบริหารเวลาจริงๆ” คุณสุรัตน์ถอนหายใจ

“โค้ชครับ ผมไม่เคยให้พนักงานออกมาก่อนเลยในชีวิต ผมควรทำอย่างไรดี”

“เพื่อเป็นการยุติธรรมต่อพวกเขา  คุณได้ทำอะไรเพื่อให้การสนับสนุนพวกเขาก่อนที่จะมารับหน้าที่ใหม่นี้หรือไม่”

“ผมจัดอบรม โค้ชชิ่ง และมีระบบพี่เลี้ยงให้ทุกๆคน ทำให้ผู้อำนวยการอีกสี่ท่านสามารถปรับตัวเข้ากับหน้าที่ได้ แต่สำหรับสองท่านนี้ ผมคิดว่าท่านทั้งสองเองก็มองออกว่าตนเองไม่เหมาะสมกับหน้าที่นี้”

“คุณคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าคุณบอกพวกเขาตรงๆ”

“ก็อาจเสียใจนิดหน่อยแต่คงไม่รู้สึกประหลาดใจ อาจจะรู้สึกโล่งใจด้วยซ้ำไป”

“คุณมีใครในใจที่จะมาแทนที่ใว้แล้วหรือยัง”

“ไม่น่ามีปัญหาครับ ผมสามารถวางตัวคนในได้หนึ่งท่านและต้องจ้างจากภายนอกอีกท่านหนึ่งครับ

โค้ชครับ ผมยังกังวลอยู่เลย ว่าผมจะพูดกับเขาทั้งสองอย่างไรดีครับ”

“เพราะอะไรครับ”

“เพราะบริษัทเราไม่เคยให้พนักงานออกมาก่อน” เขาทำหน้าเครียดและจริงจังมาก

“คุณสุรัตน์ คุณดูเครียดมาก คุณอาจยังไม่สามารถหาทางออกที่ดีและสร้างสรรค์ได้ในขณะที่เครียดเช่นนี้  เรามาเปลี่ยนเรื่องคุยเพื่อแทรกความคิดเชิงลบของคุณสักพักดีกว่า

ปกติคุณขับรถมาทำงานเองหรือเปล่าครับ”

“ขับเองครับ ผมชอบขับรถ” สีหน้าของเขาเปลี่ยนทันทีเมื่อได้คุยเกี่ยวกับเรื่องที่ตนเองชอบ

“ดีครับ คุณสุรัตน์  ปกติเวลาขับรถสัดส่วนที่คุณใช้เวลาในการมองกระจกหน้า กับกระจกหลังเป็นเท่าไหร่ครับ”

“มองไปข้างหน้า 90% และ มองไปที่กระจกหลัง 10% ครับ”

“คิดว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้าคุณมองกระจกหลัง 90% แทนที่จะเป็นกระจกหน้า”

“คงขับออกจากบ้านไม่ได้ครับ”

“ผมชอบคำกล่าวของ Marshall McLuhan นักปราชญ์ชาวแคนนาดาว่า

อดีตได้ผ่านไปแล้ว แต่เมื่อเผชิญหน้ากับเรื่องราวใหม่ๆเรากลับยึดติดกับสิ่งที่เพิ่งผ่านพ้นไป เรากำลังมองอนาคตผ่านกระจกมองหลัง เรากำลังเดินถอยหลังเข้าสู่อนาคต

กลับมาที่เรื่องงานของคุณ คุณคิดว่าตนเองกำลังมองกระจกหลังหรือกระจกหน้า”

คุณสุรัตน์เงียบไปสักครู่ เพื่อใช้ความคิด

แล้วพูดออกมาว่า “ผมมองกระจกหลังมาแล้วถึง 6 เดือน นี่คือสาเหตุว่าทำไมผมถึงก้าวไปข้างหน้าไม่ได้สักที  ผมต้องการเปลี่ยนความคิดนี้”

“ดีครับ”

“โค้ชช่วยลองซ้อมบทบาทเหมือผมกำลังคุยกับผู้อำนวยการทั้งสองท่านหน่อยสิครับ”

“ได้แน่นอนครับ คุณกังวลเกี่ยวกับท่านใหนมากกว่ากัน”

“คุณแดงครับ ท่านอยู่กับองค์กรมากว่า 20 ปี”

“เพราะอะไรคุณจึงกังวลเกี่ยวกับเขามากครับ”

“เพราะท่านเป็นคนดี ทำงานหนัก มีความรับผิดชอบ และพยายามอย่างถึงที่สุดเสมอ”

“ถ้าเช่นนั้นแล้ว ทำไมจึงทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ”

“จุดอ่อนคือภาษาอังกฤษ ท่านไม่สามารถเขียนจดหมายโต้ตอบเป็นภาษาอังกฤษได้ ทำให้ผมต้องตอบอีเมล์ รับผิดชอบทำรายงาน และการสื่อสารภาษาอังกฤษทั้งหมด เพราะท่านมีนายอีกคนที่หน่วยภูมิภาคที่ฮ่องกง”

“แล้วคุณแดงตระหนักเรื่องนี้หรือไม่”

“ครับ”

“ถ้าเช่นนั้นคุณก็ควรบอกข้อเท็จจริงนี้แก่เขาไป”

“ผมจะเริ่มการสนทนากับเขาอย่างไรเพื่อไม่ให้เขาเสียความมั่นใจในตนเองครับ”

“เพราะอะไรคุณคิดว่าคุณแดงจะเสียความมั่นใจในตนเองครับ”

“เขาอาจคิดว่าตนเองไม่มีความหมาย”

“ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง คุณคิดว่าเขาไม่มีความหมายด้วยหรือไม่ครับ”

“ไม่เลยครับ”

“แล้วคุณคิดว่าข้อเท็จจริงของสถานการณ์นี้คืออะไรครับ”

“เป็นความไม่เหมาะสมกับหน้าที่ครับ”

“ถ้าเช่นนั้นคุณก็ควรบอกคุณแดงไปตามจริง”

“ฮ้า!” คุณสุรัตน์เข้าถึงช่วงเวลายูเรก้า

ผมยืนยันกับเขาต่อ “เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอยู่เสมอๆ เมื่อสภาวการณ์เปลี่ยนไป คนก็ต้องเปลี่ยนตาม บางคนสามารถเปลี่ยนได้ แต่บางคนไม่สามารถเปลี่ยนได้เพราะความไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง หน้าที่และสถานการณ์ ไม่เกี่ยวกับว่าเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี  แต่เป็นเรื่องของความเหมาะสมครับ”

“โอเคครับ ผมจะบอกคุณแดงว่าเป็นเรื่องของความไม่เหมาะสม แล้วขั้นตอนต่อไปล่ะครับ”

“คุณคิดว่าอย่างไรครับ”

“จากนั้นผมคงแจ้งให้ทราบถึงขั้นตอนการออกจากองค์กร”

จากนั้นเราสองคนลองซ้อมการพูดคุยกันอีกสอง สามรอบ

“ขอบคุณครับโค้ช”