ผู้จัดการที่ยอดเยี่ยมบริหารผลงานอย่างมีประสิทธิภาพ

“โค้ชเกรียงศักดิ์ครับ ไม่ทราบว่าโค้ชมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับแบบประเมินผลการทำงานบ้างครับ”

“คุณวินัย ทำไมจึงถามถึงเรื่องนี้ขึ้นมาครับ”

“ในการประชุมทีมผู้บริหารครั้งล่าสุดนั้นมีคนจำนวนมากบ่นเกี่ยวกับฟอร์มที่ใช้อยู่น่ะครับ ทั้งๆที่ทุกท่านเป็นผู้บริหารมานาน ประสบการณ์การทำงานก็มาก แต่กลับไม่มีใครกรอกแบบฟอร์มนี้ได้ถูกต้อง ไม่มีใครชอบฟอร์มนี้เลยครับ”

“คุณวินัย การประเมินผลนั้นเป็นงานที่ผู้บังคับบัญชาส่วนมากไม่ชอบทำนัก ตามที่ปีเตอร์ ดรักเกอร์เขียนใว้ในหนังสือ The effective executive ว่า

การประเมินผลงานนั้นถูกใช้เป็นที่แพร่หลายในองค์กรต่างๆมากมาย จุดเริ่มต้นนั้นได้รับการออกแบบเพื่อใช้ในกระบวนการทางคลินิค และนักจิตวิทยาที่ดูแลคนไข้จิตไม่ปกติ  ผู้ใช้กลุ่มนี้คือนักบำบัดเพื่อให้คนไข้มีอาการดีขึ้น ทำให้เขามุ่งความสนใจไปที่ประเด็นที่มีความผิดปกติมากกว่าสิ่งที่ปกติของคนไข้  โดยตั้งสมมติฐานใว้ก่อนเลยว่าคนที่เข้ามาเขาคือคนที่ตระหนักรู้ด้วยตนเองว่าตนกำลังมีปัญหา  ทำให้นักจิตวิทยาที่ทำงานในคลินิคประเภทนี้มุ่งความสนใจไปที่การวินิจฉัยข้อด้อย จุดอ่อนของผู้อื่น”

“แล้วจากประสบการณ์ของโค้ช ผู้จัดการที่เก่งๆทำแตกต่างไปอย่างไรบ้างครับ”

“ครับ ต่อไปนี้เป็นขั้นตอนที่ผู้จัดการชั้นเลิศปฏิบัติครับ

  1. มีความเข้าใจชัดเจนเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ ค่านิยม และกลยุทธ์ขององค์กร
  2. แปลงความเข้าใจนั้นเป็นเนื้องานสำหรับแต่ละตำแหน่ง
  3. โน้มน้าวทีมให้มีความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน
  4. ประสานงานกับทุกระดับเพื่อกำหนดตัวชี้วัดประสิทธิภาพการทำงานที่เหมาะสมและท้าทาย
  5. โค้ชทีมงาน
  6. ให้ข้อมูลย้อนกลับอย่างสม่ำเสมอ
  7. โค้ชผู้ที่มีผลงานดีในเรื่องที่สามารถปรับปรุงให้ดียิ่งๆขึ้นไปอีก
  8. ประเมินผลงานอย่างสม่ำเสมอ เช่น 2 หรือ 4 ครั้งต่อปี
  9. ปลดปล่อยศักยภาพ โดยการหมุนเวียนหรือเลื่อนตำแหน่งแก่ผู้มีผลงานดี ให้เหมาะกับจังหวะที่โอกาสมีเข้ามา”

“ฟังดูเรียบง่ายมากเลยครับ ไม่ทราบว่ามีตัวอย่างไหมครับ”

“คุณวินัย  สมมติว่าผมต้องการเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวในโรงอาหารของบริษัท  โดยมีวิสัยทัศน์ว่าร้านของผมคือร้านก๋วยเตี๋ยวไก่ที่ดีที่สุดในโรงอาหาร  ค่านิยม คือ สะอาด เร็ว และคุ้ม  กลยุทธ์ คือ ทำก๋วยเตี๋ยวเสร็จพร้อมเสริฟภายใน 1 นาที

จากนั้นผมแปลงแนวทางเหล่านี้ให้กลายเป็นงานแต่ละอย่างที่ต้องทำ เช่น จัดจ้างพ่อครัวที่มีคุณสมบัติตรงกับค่านิยมและกลยุทธ์ คือ เป็นคนสะอาดสะอ้าน ไม่สูบบุหรี่ และกระฉับกระเฉง  โดยมีตัวชี้วัดประสิทธิภาพที่ชัดเจนคือ ทำก๋วยเตี๋ยว 1 ชามภายใน 1 นาที ผมจึงต้องวางกระบวนการทำงานที่จะทำให้สามารถทำก๋วยเตี๋ยว 1 ชามใน 1 นาที แล้วทำการอบรม โค้ชให้พ่อครัวทำได้ตามที่วางเอาใว้โดยเราต้องโค้ชเรื่องการทำก๋วยเตี๋ยวกันทุกๆวัน”

“เข้าใจแล้วครับ แล้วจากประสบการณ์ของโค้ช สิ่งที่ผู้จัดการมักทำผิดพลาดคืออะไรครับ”

“การฝึกงานในขณะปฏิบัติหน้าที่จริง ในองค์กรขนาดใหญ่ ผู้จัดการจำนวนมากคิดว่าการฝึกอบรมนั้นเป็นหน้าที่ของฝ่ายบุคคลหรือแผนกฝึกอบรม แม้จะเป็นเรื่องจริงแต่ก็ไม่ทั้งหมด

ผู้จัดการในสายงานเป็นผู้รับผิดชอบต่อผลการทำงานของพนักงาน ดังนั้นเขาจึงมีหน้าที่รับผิดชอบการฝึกอบรมเช่นกัน  แผนกฝึกอบรมสามารถให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องวิสัยทัศน์ พันธกิจ ค่านิยม กลยุทธ์ และลักษณะโครงสร้างขององค์กรในภาพรวมเท่านั้น

ใครกันล่ะที่จะทราบดีที่สุดว่าต้องทำงานอย่างไร ก็ผู้จัดการในสายงานน่ะสิ เขาจึงเป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดที่จะสอนและโค้ชสมาชิกใหม่ของทีม”

“จริงครับโค้ช ตอนที่ผมเป็นผู้จัดการในสายงาน ผมทำเรื่องนี้ได้ไม่ดีนัก”

“เพราะอะไรครับ”

“ตอน 3 ขวบ คุณพ่อผมสอนให้ว่ายน้ำด้วยการโยนลงไปในสระโดยไม่ใส่ห่วงยางให้ ผมเกือบจมน้ำ แต่สุดท้ายก็ตะเกียกตะกายว่ายเข้าฝั่งจนได้ เป็นการเรียนว่ายน้ำที่โหดมากครับ

จากนั้นเป็นต้นมา ปรัชญาในการสอนผู้อื่นของผมคือ โยนเขาลงไปในสระ”

“คุณวินัย แล้วอะไรที่ทำให้คุณเปลี่ยนแนวทางในการสอนงานครับ”

“หลังจากผมทำงานหนักเป็นเวลาหลายปี ก็พบว่าหนึ่งในสามของสมาชิกของทีมสามารถช่วยตัวเองได้แม้เป็นแนวทางในแบบของผม แต่คนส่วนมากไม่สามารถทำได้ จึงทะยอยลาออกจากบริษัท

โชคดีที่ผมได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับภาวะผู้นำชื่อ One Minute Manager: Increasing Effectiveness Through Situational Leadership แนวทางของหนังสือเล่มนี้ คือ ต่างคน ต่างสไตล์  หมายความว่า ในการทำงานกับผู้อื่นนั้นเราต้องมีความยืดหยุ่น ถ้าเราต้องการให้เขาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ คุณต้องให้เขาทำงานในสไตล์ที่เหมาะกับเขามากที่สุด”

“สำหรับสิ่งสำคัญสิ่งสุดท้ายนะครับ ผู้จัดการชั้นเลิศ จะคอยมองหาจุดแข็ง แต่จะไม่คอยจับผิดลูกน้อง

เขาทำแบบนี้โดยการเฝ้าสังเกต ไต่ถาม และให้กำลังใจให้ทุกๆคนทำงานให้ดีที่สุด  เขาทราบดีว่าเมื่อคนทำงานพูดเกี่ยวกับจุดแข็งของตน จะแสดงความกระตือรือร้นออกมาจนสามารถสังเกตได้ชัดจากน้ำเสียง ภาษากาย และแววตาของพวกเขาเลยทีเดียว”