ถามคำถามที่ถูกต้อง

บทความ: โค้ชเกรียงศักดิ์ นิรัติพัฒนะศัย
ภาพ: Kadir Akman

“คุณเกรียงศักดิ์ ทำไมในองค์กรผมมีความเปลี่ยนแปลงมากมายเหลือเกิน” คุณนิรันดร์บ่น

“คุณตั้งคำถามแบบนี้กับตัวเองบ่อยแค่ไหนครับ”

“ผมถามตัวเองทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงในองค์กรครับโค้ช”

“คุณได้ประโยชน์อะไรจากการถามคำถามนี้ครับ”

นิรันดร์เงียบไปสักครู่ แล้วส่ายหน้า  “ไม่ทราบครับ”

“เพราะคุณภาพของคำถามที่เราถามจะบ่งถึงคุณภาพชีวิตของเราด้วย”

“หมายความว่าอย่างไรครับ”

“ลองมาดูกันว่า ถ้าคุณเปลี่ยนคำถามนี้เป็น เราจะปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร มีอะไรบ้างที่คุณจะทำต่างไปจากการถามคำถามเดิม”

“ถ้าถามแบบนี้ผมก็ต้องเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆที่มีความสร้างสรรค์”

“คุณคิดว่าความแตกต่างของสองคำถามนี้คืออะไรครับ”

“คำถามแรกเป็นการบ่น คำถามที่สองเป็นตัวเชื่อมโยงไปยังการกระทำเชิงบวก อ๋อ” นิรันดร์อุทาน แล้วพูดต่อว่า “โค้ชครับ ผมจะเปลี่ยนคำถามที่มีได้อย่างไร”

“เป็นคำถามที่ดีครับ นี่คือหนังสือชื่อ เปลี่ยนคำถามชีวิตเปลี่ยน  แปลจาก  QBQ – the question behind the question โดย John G. Miller” ผมส่งหนังสือให้คุณนิรันดร์

“หนังสือเล่มนี้พูดเกี่ยวกับวิธีในการฝึกความคิดของเราให้ถามคำถามที่ถูกต้อง และจะนำไปสู่การกระทำเชิงบวกที่มีสำนึกในความรับผิดชอบ ลองอ่านดูนะครับ แล้วเรามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการโค้ชครั้งต่อไป”

สองสัปดาห์ต่อมา

“โค้ชครับ  หนังสือเล่มนี้เยี่ยมมากเลยครับ”

“คุณได้เปลี่ยนคำถามอะไรไปบ้างครับ”

“ก่อนอ่านหนังสือเล่มนี้ ผมถามคำถามผิดๆมากมายเช่น

  1. ทำไมคนอื่นไม่ทำงานหนักกันกว่านี้
  2. ทำไมเรื่องเหล่านี้จึงเกิดขึ้นกับผม
  3. ทำไมพวกเขาจึงทำให้การทำงานของผมยากลำบาก
  4. เมื่อไหร่พวกเขาจะแก้ไขปัญหาเสียที
  5. เมื่อไหร่ลูกค้าจะติดต่อกลับผม
  6. เมื่อไหร่ผมจึงจะได้รับข้อมูลมากเพียงพอที่จะตัดสินใจเสียที

ตอนนี้ผมเปลี่ยนคำถามเหล่านี้ไปเป็น

  1. ผมจะทำงานของตนเองให้ดีขึ้นได้อย่างไร
  2. ผมต้องทำอย่างไรเพื่อทำให้สถานการณ์นั้นดีขึ้น
  3. ผมสามารถให้ความช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างไรบ้าง
  4. ผมสามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างไรบ้าง
  5. ผมจะติดต่อลูกค้าอย่างสร้างสรรค์มากกว่านี้ได้อย่างไร
  6. ผมต้องทำอย่างไรเพื่อให้ได้ข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจ”

“ดีมากครับ เป็นหนังสือเล่มเล็กที่เฉียบคมมากใช่มั๊ยครับ”

“จริงครับโค้ช ผมคงอ่านซ้ำอีกสองสามรอบ และอยากซื้อแจกให้กับทีมบริหารทุกๆท่านด้วย”

“เพราะอะไรครับ”

“พวกเขาจะได้เปลี่ยนการกระทำเหมือนอย่างที่ผมเป็น”

“คุณควรถามคำถามอะไรก่อนที่จะแจกหนังสือครับ”

“อืมมม  ขอคิดสักครู่ครับ” ผ่านไปสองสามวินาที “ผมจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้พวกเขานำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้”

“ดีครับดี แล้วควรต้องทำอย่างไรครับ”

“ผมควรแชร์ประสบการณ์ของตนเองก่อน”

“จากนั้นล่ะครับ”

“อธิบายถึงประโยชน์ที่พวกเขาจะได้รับถ้านำแนวทางจากหนังสือเล่มนี้มาปฏิบัติ”

“ประโยชน์นั้นมีอะไรบ้างครับ”

“จากประสบการณ์ ผมมีสิทธิเลือกที่จะคิด ผมอาจไม่สามารถเปลี่ยนสถานการณ์ได้แต่สามารถเปลี่ยนทัศนคติของตนเองได้ หนังสือเล่มนี้ให้แนวคิดในการเลือกที่จะคิดเชิงบวกไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรก็ตาม

ข้อที่สองคือ ผมรู้สึกว่าตนเองมีอำนาจมากขึ้น เพราะคำถามเหล่านี้ทำให้ผมต้องลงมือทำมากกว่ารอคำสั่งจากผู้อื่น”

“ดีครับ ดูเหมือนว่าประโยชน์ที่คุณได้รับนั้นน่าจะสามารถซื้อใจคนที่มีความเป็นตัวของตัวเอง รับผิดชอบในหน้าที่และชอบทำสิ่งใหม่ที่ต้องใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  คุณคิดว่าในทีมของคุณมีใครที่ใจเปิดกว้างบ้างครับ”

“มี 10 คน แบ่งได้เป็นสามกลุ่มครับ มี 1 คนที่จะลงมือทำตามทันที อีก 7 คนจะทำถ้าได้รับแรงกระตุ้นมากพอ และอีกสองคนที่เหลืออาจยอมทำตามบ้างแต่ก็ต่อต้านในใจ”

“ถ้าอย่างนั้นจะวางแผนให้ใช้ได้จริงมากที่สุดได้อย่างไร”

“ถ้าเช่นนั้นอาจต้องทำเป็นขั้นเป็นตอน

  1. ผมแชร์ประสบการณ์กับทีมและแจกหนังสือให้ทุกๆคน
  2. เริ่มโครงการนำร่องในสัปดาห์แรก โดยมอบหมายให้ลูกน้องหนึ่งคนไปอ่านแล้วลองใช้แนวทางนี้
  3. ให้ลูกน้องท่านแรกมาแชร์ประสบการณ์และสิ่งที่ได้เรียนรู้กับทีม
  4. ให้พวกเขาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประโยชน์ และสิ่งที่ลูกน้องคนที่หนึ่งได้เรียนรู้มา – ให้พวกเขาขายไอเดียระหว่างกันและกันเอง
  5. ลูกน้องบางคนอาจยังมีคำถามและสงวนท่าทีอยู่บ้าง ผมจะตอบทุกคำถามที่พวกเขามี ปกติแล้วความกังวลใจที่เขามีมักเป็นข้ออ้างที่จะไม่ทำหรืออาจมองเห็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
  6. จากนั้นเราจะร่วมหารือกันว่าควรทำอย่างไรเพื่อจะหลีกเลี่ยงปัญหาและวิเคราะห์ความกังวลใจต่างๆที่อาจเกิดขึ้น

วิธีนี้จะทำให้พวกเขามีส่วนร่วมในเรื่องนี้มากขึ้น”

“ดีมากครับ”

“แต่ต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างมาก ถ้าผมทำตามวิธีแรกโดยแจกหนังสือให้พวกเขาอ่านแล้วไปสร้างความเปลี่ยนแปลงกันเองจะเร็วกว่านี้มาก”

“การทำอะไรเร็วๆนั้นประสบความสำเร็จบ่อยมากแค่ใหนครับ”

“ปกติก็ไม่ครับ ถ้าทำอะไรเร็วๆก็มักจะล้มเหลว อ้อ  ผมเข้าใจแล้วครับโค้ช”