ซีอีโอปั้นผู้นำใหม่อย่างไร

“โค้ชเกรียงศักดิ์ครับ ผมมีความกังวลใจเกี่ยวกับอนาคตในอีก 5 ปีข้างหน้า”

 “เพราะอะไรครับคุณมานะ”

 “เพราะถึงตอนนั้นครึ่งหนึ่งของทีมผู้นำขององค์กรก็จะเกษียณ ผมยังไม่มีคนเก่งๆพร้อมที่จะแทนที่พวกเขาได้”

 “แล้วคุณวางแผนไว้อย่างไรบ้างครับ”

 “มีสามด้านครับ คือ การฝึกอบรม การใช้ระบบพี่เลี้ยง และการโค้ชชิ่ง”

 “เมื่อพูดถึงความเป็นผู้นำ คุณคิดว่าหน้าที่หลักของผู้นำคืออะไรครับ”

 “เพื่อนำทีมงานไปยังจุดที่องค์กรยังไม่เคยไปถึง”

 “โอเคครับ แล้วเพื่อที่จะนำทีมไปยังจุดที่ยังไม่เคยไป คุณคิดว่าผู้นำต้องทำอะไรบ้าง”

 “ผู้นำต้องมีดุลยพินิจที่ดี โค้ชครับ ดุลพินิจเรื่องใดบ้างที่มีความสำคัญสำหรับผู้นำครับโค้ช”

 “มีสามเรื่องที่สำคัญครับ คือ เรื่องบุคลากร กลยุทธ์ และวิกฤต”

 “แล้วผมจะพัฒนาผู้นำในสามด้านนี้ได้อย่างไรครับ”

 “เราลองใช้ตัวคุณเองเป็นกรณีศึกษานะครับ  ตัวคุณเองทำอย่างไรเพื่อพัฒนาดุลพินิจในสามเรื่องที่กล่าวมาแล้วครับ”

 “จากประสบการณ์ล้วนๆครับ”

 “คุณใช้เวลา 15 ปีก่อนจะก้าวมาเป็นซีอีโอ คุณคิดว่าประสบการณ์ใดที่เป็นตัวช่วยพัฒนาดุลยพินิจด้านภาวะผู้นำของคุณบ้างครับ”

 “มี 4 เหตุการณ์สำคัญๆครับ

 

  1. เจ้านายที่ดี
  2. เจ้านายที่ทำงานด้วยยาก
  3. ลูกค้าที่มีความท้าทายสูง
  4. วิกฤตต่างๆ”

 “ช่วยเล่ารายละเอียดในแต่ละกรณีให้ฟังหน่อยครับ”

 “ได้ครับ

 1.            เจ้านายคนแรกของผมเป็นเจ้านายที่ยอดเยี่ยม สำหรับผม เขาเป็นทั้งเจ้านาย พี่ชาย ครู โค้ช และพี่เลี้ยง ผมเป็นผู้จัดการฝ่ายขายในสายงานของท่านสามปี ท่านโค้ชผมอย่างหนักในช่วงปีแรกเพราะผมยังใหม่มากท่านจึงใช้วิธีการสอนเป็นส่วนใหญ่ ผมดีใจมากเพราะงานนั้นทำให้ผมมีโอกาสนำทีมลูกน้องหลายคน ในปีที่สองท่านมอบหมายงานให้ผมมากขึ้น และในปีที่สามท่านมอบหมายหน้าที่ให้ผมพัฒนาคนที่จะมารับตำแหน่งของผมด้วยตนเอง

2.            หลังจากที่เจ้านายคนแรกของผมถูกปลดเนื่องจากการเมืองในที่ทำงาน ผมก็มีนายใหม่ นายใหม่ท่านนี้ตรงกันข้ามกับนายเก่าอย่างสิ้นเชิง เขาทำงานด้วยยาก เข้าหายาก และมีความต้องการสูง เป็น expat ที่ไม่อดทนนัก ภายในหกเดือนครึ่งหนึ่งของลูกน้องลาออกหมด ผมเองก็อยากออกแต่มีประสบการณ์น้อยเกินไปที่จะย้ายงานจึงจำใจอยู่ต่อ แต่การอยู่ทำงานต่อกลับเป็นประสบการณ์การพัฒนาตนเองที่ดีมากสำหรับผม นายใหม่เป็นคนทำงานด้วยยาก ลงทุกรายละเอียด เหมือนผมได้เข้าค่ายพัฒนาตนเองตลอดสามปี ผมต้องตรวจสอบทุกๆดุลยพินิจของตนก่อนตัดสินใจเสมอ

3.            หลังจากนายคนที่สองของผมย้ายไป ผมก็ขึ้นทำหน้าที่แทนท่าน ในขณะนั้น เรามีลูกค้าต่างประเทศที่ทำงานด้วยยากและมีความท้าทายสูงเพราะมีกำลังต่อรองสูงกว่าสำนักงานในเมืองไทย ลูกค้ากลุ่มนี้บีบผมในทุกๆทางตามเอกสารสัญญา ผมเครียดมากที่ต้องดูแลลูกค้ากลุ่มนี้ หลังจากนั้นสามเดือน ผมเรียกทีมประชุม เราหารือกันว่าจะทำอะไรให้ต่างไปจากเดิมบ้างเพื่อรับมือกลับลูกค้ากลุ่มนี้ สุดท้ายเราก็ได้แบบจำลองของธุรกิจรูปแบบใหม่ เรื่องนี้เป็นจุดเปลี่ยนในเส้นทางอาชีพของผมทีเดียว ผมสามารถที่จะปลดปล่อยศักยภาพทางความคิดของผมและทีมงาน เนื่องมาจากแรงกดดันจากลูกค้า

4.            จากนั้น ก็มาถึงช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ และปัญหาการเมืองในประเทศไทยที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน ผมเพิ่งเข้ารับตำแหน่งซีอีโอปีแรก ก่อนหน้านั้นประสบการณ์ของผมคือการสร้างความเติบโตให้กับองค์กรมาโดยตลอด วิกฤตจึงเป็นเรื่องใหม่สำหรับผม วิกฤตครั้งนั้นจึงเป็นตัววัดดุลยพินิจที่ดีสำหรับผม ผมโชคดีที่รอดเหตุการณ์นั้นมาได้เพราะมีคนเก่งทำงานอยู่รอบตัว”

 

“คุณมานะ คุณได้เรียนรู้อะไรจากประสบการณ์ที่เล่ามาครับ”

“พัฒนาการด้านภาวะผู้นำส่วนใหญ่ได้มาจากประสบการณ์ครับ”

“ถูกครับ แล้วคุณจะเตรียมการเรียนรู้จากประสบการณ์ให้ทีมผู้นำในอนาคตของคุณได้อย่างไรครับ”

คุณมานะหันไปหยิบหนังสือจากชั้นวางด้านหลัง

“Eighty-Eight Assignments for Development in Place โดย Michael M. Lombardo และ Robert W. Wichinger มีคำตอบให้ผมครับ

ผู้เขียนระบุความท้าทายในการพัฒนา 9 เรื่องที่จะช่วยพัฒนาภาวะผู้นำในด้านต่างๆ คือ

–        ทำงานนอกสถานที่เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น รับมือลูกค้าที่ไม่พอใจบริการ

–        จัดตั้งบางสิ่งบางอย่าง แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น จัดจ้างทีมเลขา

–        นำทีมงานเพื่อแก้ปัญหาทางธุรกิจ

–        บริหารกลุ่มพนักงานที่ขาดประสบการณ์

–        บริหารกลุ่มพนักงานที่ขาดความรู้ที่จำเป็นในการทำงาน

–        บริหารกลุ่มพนักงานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องใดๆแต่ขาดประสบการณ์ในการบริหารคน

–        บริหารกลุ่มพนักงานที่ทำงานในกรอบเสมอ

–        บริหารกลุ่มพนักงานที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วเพราะธุรกิจขยายตัว

–        เป็นผู้ดูแลการตัดงบประมาณ

โค้ชครับ ผมจะหารือกับฝ่ายบุคคลให้คิดแผนพัฒนาสำหรับทีมผู้นำในอนาคตขององค์กรครับ”